นพดล ปัทมะ" ระบุ"ทักษิณ"จะให้สัมภาษณ์โทรทัศน์ภายใน 2-3 วัน เรื่อง อนาคตทางการเมือง และการกลับเมืองไทย
นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และตระกูลชินวัตร กล่าวถึงกรณีที่พลเอกสนธิ บุญยะรัตกลิน ประธานคมช.และผบ.ทบ.ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น โดยระบุว่า ขอให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ มีความรักชาติว่าพ.ต.ท.ทักษิณรักชาติเช่นเดียวกับพลเอกสนธิ ตนไม่อยากตอบโต้กับผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ขอให้บรรยากาศเกิดความสมานฉันท์
´ทักษิณ´ให้สัมภาษณ์โทรทัศน์อีก 2-3 วัน เรื่องกลับไทย
เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะให้สัมภาษณ์สื่อระดับโลกอีกหรือไม่
นายนพดลกล่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะให้สัมภาษณ์สื่อระดับโลกประเภทโทรทัศน์ใน 2-3 วันนี้ เนื้อหาน่าจะเป็นเรื่องทั่วๆไป เรื่องอนาคตตทางการเมือง และการกลับเมืองไทย และบทสัมภาษณ์ในนิตยสารไทม์ น่าจะตีพิมพ์และจำหน่ายในวันที่ 2 ก.พ.นี้
นายนพดลกล่าวและว่า
ตอนนี้ท่านทักษิณอยู่ที่ปักกิ่ง ประเทศจีน และจะไปต่างประเทศใน 2-3 วันนี้ เพื่อไปท่องเที่ยว"
ส่วนข้อร้องขอให้พ.ต.ท.ทักษิณเก็บตัวไปก่อนนั้น ก็น่ารับฟัง แต่พ.ต.ท.ทักษิณถูกสื่อขอสัมภาษณ์มาก ยืนยันว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะพูดในเชิงบวก
ทำไมพ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์บ่อยมาก
นายนพดลกล่าวว่า 2-3 เดือนแรก หลังการรัฐประหาร พ.ต.ท.ทักษิณก็เก็บตัว เพราะไม่อยากโดนจับตาว่าเคลื่อนไหวทางการเมือง ตอนนี้สื่อจำนวนมาก รอคิวสัมภาษณ์ พ.ต.ท.ทักษิณจึงเกรงใจ และจัดเวลาให้ตามสมควร
ยืนยันว่าสื่อที่ติดตามขอสัมภาษณ์นั้นไม่เกี่ยวกับบริษัทอีเดลแมน ที่ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้พ.ต.ท.ทักษิณ ขอให้เชื่อถือตนด้วย เพราะสื่อเหล่านั้นติดต่อขอสัมภาษณ์กับตนโดยตรง เชื่อว่าสัญญาณการถ่ายทอดจะไม่โดนบล็อก เพราะบรรยากาศทางการเมืองตอนนี้ดีขึ้นมากแล้ว
พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาชี้แจงข้อกล่าวหาในคดียุบพรรคไทยรักไทย ด้วยตัวเองหรือไม่
นายนพดลกล่าวว่า คดีต่างๆนั้นพ.ต.ท.ทักษิณอยากกลับมาสู้คดีด้วยตัวเอง การทำงานของคตส.ก็มีขั้นตอนต่างๆ เบื้องต้นนั้นคือการรับทราบข้อกล่าวหา
ส่วนการชี้แจงนั้นอาจชี้แจงแบบลายลักษณ์อักษรก็ได้
หากไปอยู่ในชั้นศาลแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณจะมาชี้แจงด้วยตัวเองอย่างแน่นอน แต่พ.ต.ท.ทักษิณยังคำนึงถึงบรรยากาศสมานฉันท์ และความสบายใจของคมช.ด้วย
ส่วนการหารือสามฝ่ายคือ คมช. คตส.และรัฐบาล
เกี่ยวกับการตรวจสอบการทุจริต โดยอาจจะมีมติครม.ขอให้ข้าราชการร่วมมือกับคตส.ในการให้ข้อมูลนั้น นายนพดลกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดี แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องไม่บีบบังคับให้ข้าราชการกระทำในสิ่งผิดกฎหมาย การให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องตรงไป ตรงมา ตามเนื้อผ้า และต้องกระทำตลอดไปเพื่อให้ประเทศไทยใสสะอาด