อีสานโพลชี้ 'รบ.ยิ่งลักษณ์' สอบตกการทำงานด้านศก. และคนส่วนใหญ่เมินบ้านเลขที่ 111 หวนการเมือง ระบุของแพง ค่าแรงต่ำ คนอีสานได้รับผลกระทบอย่างหนัก 'ไม่ได้รู้สึกไปเอง'
9 พ.ค.55 ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) โดยศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะ วิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “เสียงสะท้อนชาวอีสานกับผลงานรัฐบาลยิ่ง ลักษณ์” ประจำเดือนเมษายน เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ สำรวจความคิดเห็นของคนอีสานต่อการทำงานของรัฐบาลใน 6 ด้าน เพื่อเป็นเสียงสะท้อนให้รัฐบาลได้นำ ผลการประเมินและข้อเสนอแนะไปปรับปรุงมาตรการและนโยบายการทำงานได้อย่างเหมาะสม โดยการสำรวจจะมีขึ้นทุกๆ 2 เดือน โดยครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งที่ 4 ตั้งแต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ารับตำแหน่ง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 - 5 พ.ค.55 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,033 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน20 จังหวัด
โดยผลสำรวจการประเมินผลงานรัฐบาลใน 6 ด้าน พบว่า ด้านภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 81.3 ไม่ผ่าน ร้อยละ 18.7 ด้านการเมืองและประชาธิปไตย ประเมินให้ผ่าน ร้อยละ 74.2 ไม่ผ่าน ร้อยละ 25.8 ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ประเมินให้ไม่ผ่านร้อยละ 59.0 ผ่าน ร้อยละ 41.0 ด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ประเมินให้ผ่านร้อยละ 62.4 ไม่ผ่าน ร้อยละ 37.6 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ ประเมินให้ผ่านร้อยละ 68.8 ไม่ผ่าน ร้อยละ 31.2 ด้านการต่างประเทศ ประเมินให้ผ่านร้อยละ 83.7 ไม่ผ่าน ร้อยละ 16.3
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเทียบกับการสำรวจเดือนกุมภาพันธ์ 55 พบว่าแม้ครั้งนี้คนอีสานจะประเมินให้ ผลงานแต่ละด้านผ่าน แต่ด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ชาวอีสานกว่าร้อยละ 59 ประเมินว่า ไม่ผ่าน และด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ก็มีแนวโน้มลดลง จากเดิมประเมินว่าผ่าน ถึงร้อยละ 65.8 ลดลงเหลือร้อยละ 62.4 ส่วนด้านอื่น มีการปรับเพิ่มขึ้น กล่าวคือ คะแนนการทำงานในภาพรวม เพิ่มขึ้นจากเดิม ร้อยละ 72.1 เป็นร้อยละ 81.3 ขณะที่ด้านการเมือง จากเดิมร้อยละ 65.8 เพิ่มเป็นร้อยละ 74.2 ด้านสิ่งแวดล้อม มลภาวะ และภัยธรรมชาติ จากเดิมร้อยละ 53.8 เพิ่มเป็นร้อยละ 68.8 และด้านการต่างประเทศ จากเดิมร้อยละ 79.7 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.7
อย่างไรก็ตาม แม้คะแนนประเมินผลงานรัฐบาลจะเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเด็น แต่เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่า กว่าร้อยละ 39.4 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ ส่วนร้อยละ 34.3 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (ลดลงจากเดิมร้อยละ 47) และอีกกว่าร้อยละ 19.5 ตอบว่าไม่เลือกพรรคใด
สำหรับผลการสำรวจนักการเมืองที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดประจำเดือน ลำดับที่ 2 ถึง 4 เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดย น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรยังคงนำมาเป็นอันดับหนึ่งร้อยละ 52.1 รองลงมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ9.2 ผู้ที่ตอบว่าไม่มีนักการเมืองคนใดมีผลงานโดดเด่นเลย ร้อยละ 7.55 และนาย ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ร้อยละ 5.91 ส่วน ร.ต.อ. เฉลิม อยู่บำรุง ที่เคยอยู่ในอันดับสองมาตลอด ในครั้งนี้กลับมีผู้คิดว่ามีผลงานโดดเด่นเพียงร้อยละ 1.65 มีการสอบถามต่อเกี่ยวกับ การปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นักการเมืองที่พ้นโทษจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี หรือสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ชาวอีสานกว่าร้อยละ 68.2 รู้สึกเฉยๆ ไม่มีความเห็นว่าการนำสมาชิกบ้านเลขที่ 111 เข้ามาเป็นรัฐมนตรีจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแต่อย่างใด อีกร้อยละ 16.6 เห็นว่าควรแต่ตั้งให้เข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรี โดยให้เหตุผลว่า มีประสบการณ์และเคยบริหารงานได้ดีมาก่อน ส่วนผู้ที่ตอบว่า ไม่ควร อีกร้อยละ 14.4 ให้ความเห็นว่า อาจก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต ขาดความสง่างามในการดำรงตำแหน่ง และยังกังวลว่า อาจเกิดการต่อต้านจากสังคมด้วย
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาที่คนอีสานเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ไขมากที่สุด คือ ปัญหาค่าครองชีพ ค่าแรง และหนี้สิน โดยชาวอีสานกว่าร้อยละ 66.4 เห็นว่าเป็นปัญหาเร่งด่วนที่สุด รองลงมาคือปัญหายาเสพย์ติด ร้อยละ 5.9 และต้องการให้ช่วยส่งเสริมด้านการเกษตร และราคาพืชผล ร้อยละ 5.7 ที่เหลือเป็นปัญหาอื่น ๆ เช่น นโยบายการแจกแท็ปเล็ท พีซี, และการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้
“แม้คะแนนโดยภาพรวมรัฐบาลจะยังสอบผ่านในสายตาคนอีสานผลงานรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลพวงมาจากความชื่นชอบส่วนตัวที่คนอีสานมีต่อพรรคเพื่อไทย แต่มีประเด็นหนึ่งที่รัฐบาลต้องตระหนักคือคะแนนด้านด้านเศรษฐกิจและความอยู่ดีกินดี ที่ถือว่าในครั้งนี้รัฐบาลสอบตก เพราะประชาชนเห็นว่า ค่าครองชีพและราคาสินค้าปรับเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่นโยบายเพิ่มรายได้แก่ประชาชน ทั้งนโยบายค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ และนโยบายเงินเดือน 15,000 บาทสำหรับปริญญาตรี ที่รัฐบาลได้เคยหาเสียงเอาไว้ยังดำเนินการได้ล่าช้า ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องชาวอีสานได้ หากมีเลือกตั้งช่วงนี้พรรคเพื่อไทยเหนื่อยแน่นอน ส่วนด้านสังคม อาชญากรรม และยาเสพติด ที่มีคะแนนลดลงเช่นกัน ดังเห็นได้จากปัญหายาเสพติดที่ยังมีอยู่สูง และเมื่อถามความเห็นเพิ่มเติม ประชาชนส่วนใหญ่ก็ได้ให้ความเห็นว่า ต้องการให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความโปร่งใส และปฏิบัติตามนโยบายให้ได้ตามที่ได้เคยหาเสียงเอาไว้ และอยากให้นักการเมืองลดความเห็นแก่ตัว เพื่อประโยชน์ของประเทศ และลดความขัดแย้งในสังคม” ดร.สุทิน กล่าว
สำหรับข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 46.7 เพศชาย ร้อยละ 53.3 ส่วน ใหญ่อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 36.5 รองลงมาอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 22.4 อายุ 46-60 ปี ร้อยละ 20.2 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.0 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 3.9 อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 60.0 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 40.0 ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบปริญญาตรี ร้อยละ 25.0 รองลงมา มัธยมปลาย / ระดับปวช. ร้อยละ 23.0 ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 22.0 อนุปริญญา / ปวส. ร้อยละ 12.7 มัธยมต้น ร้อยละ 12.0 ปริญญาโทและเอก ร้อยละ 4.9 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 19.85 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 18.3 อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 15.2 รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.75 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 12.58 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 11.52 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 8.13 และอาชีพอื่นๆ ร้อยละ 0.6 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่5,001-10,000 บาท ร้อยละ 32.3 รองลงมารายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 30.6 รายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 15.2 รายได้ 15.001-20,000 บาท ร้อยละ 12.5 รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 8 มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.4