ห้วงเวลานี้สภาร่างรัฐธรรมนูญได้มีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเรียบร้อยไปแล้ว และจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน ดังนั้นการออกความคิดความเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นวาระงานอันจำเป็นของเรา เช่นเดียวกับที่เป็นวาระงานอันจำเป็นของนักประชาธิปไตยทั้งประเทศด้วย
นายกรัฐมนตรีจะมาจากไหนกันดี?
เราจึงจำเป็นต้องออกความคิดความเห็น
เพื่อบรรดาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและพี่น้องร่วมชาติของเราจะได้ร่วมกันคิดพิจารณา แต่คงจะออกความคิดเห็นเป็นบางเรื่อง บางประเด็น ที่เห็นว่าเป็นแก่นเป็นรากแก้วเป็นเนื้อในของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้
เรื่องแรกที่เราต้องการออกความเห็นคือ จุดยืนหรือนิตbปรัชญาในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ว่าจะยืนอยู่ตรงไหน เพราะหากยืนผิดที่ก็เป็นที่แน่นอนว่าจะต้องถูกฉีกอีกครั้งหนึ่ง
เรากล่าวหาว่าการร่างรัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับที่ผ่านมามีผลประโยชน์อยู่กับกลุ่มอำนาจและกลุ่มทุนในสังคม ไม่ได้มีจุดยืนอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะจุดยืนเช่นนั้น รัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาจึงสะท้อนและรองรับอำนาจของคนจำนวนน้อยไม่เป็นประโยชน์ต่อมหาประชาชน และส่งผลให้คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังต้องยากจน ขาดแคลน และล้าหลังต่อไป
รัฐธรรมนูญปี 2540 แม้ว่าจะดีกว่าหลายฉบับ แต่โดยนิติปรัชญาแล้วยังคงเป็นรัฐธรรมนูญที่จัดว่าเป็นของชนชั้นนักวิชาการ
ไม่เห็นหรือว่าอำนาจทั้งหลายเคลียเคล้า
อยู่กับบรรดานักวิชาการและทำให้นักวิชาการได้มีอำนาจวาสนาขึ้นในบ้านเมืองผิดกว่าแต่ก่อน ไม่เห็นหรือว่าการสรรหากรรมการองค์กรอิสระทั้งหลายและการให้ความเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ
ให้ผลว่าคัดเลือกเอาคนของใครมา คนของประชาชนหรือว่าคนของทรราช ไม่เห็นหรือว่านักวิชาการจำนวนมากได้รับการตอบแทนให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีบ้าง ที่ปรึกษารัฐมนตรีบ้าง กรรมการรัฐวิสาหกิจบ้าง และผลประโยชน์อะไรต่อมิอะไรอีกจิปาถะ
นี่แหละที่เขาเรียกว่าชนชั้นใดร่างกฎหมาย ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชนชั้นนั้น ดังนั้นในโอกาสที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เราเรียกร้องให้ทบทวนนิติปรัชญาหรือจุดยืนของรัฐธรรมนูญเป็นปฐม ว่าจะกำหนดให้รัฐธรรมนูญนี้มีจุดยืนหรือมีนิติปรัชญารับใช้ใครกันแน่ เราเรียกร้องให้วางนิติปรัชญาหรือจุดยืนของรัฐธรรมนูญใหม่ให้รับใช้ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นด้านหลัก
เพื่อการนี้จะต้องยกเลิกบทบัญญัติที่เคยมีมาในลักษณะที่กีดกันหวงห้ามผู้แทนราษฎรไม่ให้เสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และมีบทบัญญัติระบุให้อำนาจดังกล่าวไว้ตลอดจนกระบวนการใช้อำนาจนี้ในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในทุกภูมิภาคของประเทศ
ทำไมจึงต้องให้การเสนองบประมาณหรือกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเป็นเรื่องเฉพาะของข้าราชการและฝ่ายบริหารเท่านั้น? ไม่มีเหตุผลอะไรเลย ตราบใดที่ผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการเงินก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นเจว็ดที่ได้แต่ยกมือและเป็นบ้าเป็นใบ้เหมือนกับที่เคยผ่านมาเท่านั้น
จะต้องปลดแอกดังกล่าวนี้เสีย
และให้ผู้แทนราษฎรมีอำนาจเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการเงินได้ และมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการที่ง่ายและสะดวกในการที่ประชาชนในแต่ละพื้นที่จะเสนอโครงการหรือแผนงานอันจะเป็นที่มาของการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวของผู้แทนราษฎรด้วย เมื่อใดที่ผู้แทนราษฎรและราษฎรมีอำนาจในเรื่องนี้ เขาก็จะมีความผูกพันในเรื่องผลประโยชน์ของชาติ มีความผูกพันในความเป็นชาติ มีความหวงอำนาจอธิปไตยของปวงชน และมีความเป็นประชาธิปไตยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับไป
ประการที่สอง นายกรัฐมนตรีต้องมาจากไหน?
ประการนี้ดูเหมือนว่ามีการทุ่มเถียงกันโต้แย้งในหลายวงการ และยังหาข้อยุติไม่ได้ พวกหนึ่งก็ว่านายกรัฐมนตรีไม่จำต้องมาจากการเลือกตั้ง พวกหนึ่งก็ว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำยังขู่อีกว่าประชาธิปไตยไทยพัฒนามามากแล้ว หากนายกรัฐมนตรีไม่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นการล้าหลังถอยเข้าคลองและจะต้องเกิดเรื่องแน่
เป็นการถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่เข้าท่าและไม่มีรากฐานของความจริงในการถกเถียงทั้งสองทาง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องที่ไม่ยอมรับความจริงที่เป็นจริงในประเทศไทยของเราเพราะรัฐธรรมนูญทุกฉบับไม่เคยมีบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่มาจากการเลือกตั้ง เราไม่เคยมีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีดังที่โต้เถียงกันเลย
จึงเป็นการถกเถียงกันในเรื่องลม ๆ แล้ง ๆ
และโมเมหมกเม็ดกันทั้งสิ้น ของจริงก็คือนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ต่างหาก
เราเรียกร้องให้ทุกคนยอมรับความจริงของสภาพปัญหาดังกล่าวว่าไม่ใช่ปัญหานายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่เป็นปัญหาว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎรหรือไม่ อย่างนี้แล้วก็จะเห็นภาพชัด
ต่อปัญหานี้ เราอยากจะชี้ให้ดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมาในประเทศไทยก็จะพบว่ารัฐธรรมนูญหลายฉบับเคยมีบทบัญญัติให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎร และอีกหลายฉบับก็ไม่จำกัดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎร
นายกรัฐมนตรีบางคนที่ไม่ได้มาจากผู้แทนราษฎร เช่น พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยกอบกู้ชาติบ้านเมือง ทั้งจากปัญหาศึกสงครามและจากปัญหาเศรษฐกิจ และมีความซื่อสัตย์สุจริตชัดเจน เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนทั้งปวง
นายกรัฐมนตรีบางคนที่มาจากผู้แทนราษฎรซึ่งไม่อยากจะออกชื่อให้เป็นเสนียดบ้านจัญไรเมือง ก็เป็นคนชั่วช้าสามานย์ โกงบ้านกินเมือง โกงถนนหนทาง โกงประปา โกงบาดาล โกงมันสารพัด บางคนที่หนักหนาสาหัสก็ชั่วช้าถึงขนาดคิดล้มล้างสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถึงขนาดทำให้ชาติบ้านเมืองล่มจมก็เห็น ๆ กันแล้ว
ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะมาจากผู้แทนราษฎรหรือไม่มาจากผู้แทนราษฎร
จึงไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ตัดสินว่าจะเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ต่อแผ่นดิน มีความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใดเลย
เราจะต้องสรุปบทเรียนดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนว่าประชาธิปไตยจะรุ่งเรืองก้าวหน้า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่านายกรัฐมนตรีมาจากผู้แทนราษฎรหรือไม่
แต่อยู่กับว่าเป็นคนดีมีความสัตย์สุจริต มีประสิทธิภาพและความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดินหรือไม่
แล้วเรื่องอะไรที่จะไปปิดกั้นหรือบังคับตัดสิทธิ์ลิดรอนคนทั้งประเทศว่าเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ เว้นก็แต่ผู้ที่เป็นผู้แทนราษฎร
เราจึงเห็นว่าในประการนี้ไม่สมควรที่จะตีกรอบจำกัดสิทธิ์ของประชาชนไทยทั้งประเทศในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นคือต้องไม่มีบทบัญญัติบังคับว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากผู้แทนราษฎรเท่านั้น
แต่ทว่าประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยพึงมีสิทธิ์ที่จะได้รับรู้ล่วงหน้าว่าใครหรือพรรคไหนจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาในการเลือกตั้ง
ถ้าจะให้ดีก็ต้องประกาศคนที่จะสนับสนุนให้เป็นรัฐมนตรีด้วยดังนี้แล้วทุกอย่างก็จะโปร่งใส ประชาชนก็จะมีข้อมูลในการตัดสินใจและทำให้บุคคลที่ถูกระบุว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้รับการตรวจสอบจากมหาชนเสียชั้นหนึ่งด้วย.
ขอขอบคุณ
ข้อมูลที่มีคุณภาพ
จาก หนังสือพิมพ์ผ้จัดการ