ส.ว.รุม จี้ “นายกฯปู”เป็นผู้นำสร้างความปรองดอง หวั่นความขัดแย้งลามเหมือนไฟใต้เหตุมีกองกำลังฝึกอาวุธ ด้าน “สมชาย”บี้สถาบันพระปกเกล้าถอนรายงานปรองดอง
วันนี้ ( 2 เม.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานในการประชุม ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือ โดยนายทวีศักดิ์ คิดบรรจง ส.ว.บุรีรัมย์ กล่าวว่า ขณะนี้สาธารณชนกำลังรอรับฟังท่าทีและแนวทางการสร้างความปรองดองจากนายกฯอยู่ ซึ่งนายกฯน่าจะเป็นเจ้าภาพใหญ่ในการสร้างความปรองดอง ของประชาชน แต่บัดนี้ยังไม่แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนเลย โดยสภาเป็นสถานที่เหมาะสมที่สุดในการแสวงหาแนวทาง นายกฯเคยประกาศไว้ในการแถลงนโยบายการสร้างความปรองดองเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะฉะนั้นนายกฯจะผลักเป็นเรื่องของคนอื่นไม่ได้ ท่านจะต้องรีบทำ เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ามีแนวคิดอย่างไร ในการสร้างความสมานฉันของคนในชาติ
นายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การสร้างความปรองดอง ต้องเริ่มที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ต้องเป็นผู้นำในการปรองดอง ด้วยการแสดงออก กระทำ และต้องนำในเรื่องนโยบาย ตนห่วงในประเด็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคลที่กำลังเกิดในบ้านเมือง จะเหมือนกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะกลุ่มบุคคลที่ขัดแย้งได้มีการสะสมกองกำลังของตนเองขึ้นมา มีการตั้งค่ายฝึก รอวันที่จะนำกลุ่มบุคคลเหล่านั้นมาปะทะกัน เรื่องนี้ นายกฯ และรัฐบาลทราบว่าอยู่ที่จังหวัดอะไร หากปล่อยให้กลุ่มบุคคลลุกมาต่อสู่กันนายกฯ ตน และประธานสภาฯจะไม่มีแผ่นดินอยู่ เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่รัฐบาลฝ่ายความมั่นคงต้องกลับไปทบทวน ว่าความขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลที่มีกองกำลังเป็นของตนเอง มันยิ่งใหญ่มากกว่าความปรองดองที่จะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออก พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งไม่สามารถปรองดองได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่สภาฯจะมีการพิจารณาผลวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าเข้าในวันที่ 4 เม.ย. ทั้งๆที่ผลการสำรวจความคิดเห็นหลายสำนักก็ออกมาตรงกันว่าไม่เชื่อว่ารายงานฉบับนี้จะนำไปสู่ความปรองดอง แต่จะทำไปสู่ความแตกแยกมากกว่า ขอวิงวอนไปยังสภาฯและกรรมการสถาบันพระปกเกล้าที่จะมีการประชุมในวันที่ 3 เม.ย. ขอให้พิจารณาทบทวนและถอนเรื่องนี้ออกไป เพราะรายงานเพียง 90 วัน และสัมภาษณ์คนแค่ 47 คน ไม่ใช่การสำรวจคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด และไม่ใช่หลักวิชาการครบถ้วน ยังมีข้อบกพร่องไปดำเนินการทั้งประเทศ และใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี