เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะข้อเสนอของนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดสมดุลอำนาจของตุลาการ ว่า หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ กกต.ต้องเข้ามาแตะนักการเมือง แตะมากเท่าไร ผลกระทบจะกระเด้งเข้ามาเมื่อนั้น ดังนั้น ถ้าต่อไปข้างหน้าหากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรให้ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น และให้มีศาลเลือกตั้งทำหน้าที่ออกใบเหลือง (สั่งเลือกตั้งใหม่) และใบแดง (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) เป็นคนที่ชี้ขาดใบเหลืองและใบแดงและประกาศผลการเลือกตั้ง โดย กกต.ควรทำหน้าที่เฉพาะเป็นพนักงานจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการประกาศผลเลือกตั้งให้ขึ้นสู่ศาลเลือกตั้งให้หมด ศาลจะต้องพิจารณาประกาศผล และหากเกิดการร้องเรียนการเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการพิจารณาใบเหลืองหรือใบแดงให้เป็นหน้าที่ของศาลโดยตรง
นางสดศรีกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญที่จะมีการยกร่างกันขึ้นมาใหม่ ควรระบุเลยว่า กกต.จะทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้ง
โดยที่ กกต.จะไม่มี 5 คนเหมือนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นลักษณะของกึ่งตุลาการอีกต่อไป ควรจะเหลือเพียงเลขาธิการ กกต. เพียงคนเดียว แล้วมอบหน้าที่ในการพิจารณาผลการเลือกตั้ง การให้ใบเหลืองใบแดงให้ศาลเลือกตั้งทั้งหมด ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในศาลเลือกตั้ง ก็ควรจะมาจากการเลือกตั้ง โดยที่จะต้องได้คนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อให้เกิดความสมดุลกัน แต่ไม่ใช่ว่าศาลเลือกตั้งจะมีเพียง 5 คน เหมือนจำนวนของ กกต. แต่ควรให้มีตุลาการศาลเลือกตั้งสัก 50 คน เพื่อผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่วินิจฉัยคดีเลือกตั้ง โดยเมื่อ กกต.จัดการเลือกตั้งเสร็จก็ส่งผลเลือกตั้งให้ศาล และศาลจะพิจารณาเอง ถ้าศาลเลือกตั้งมีขึ้นมาจะตัดปัญหา แนวคิดดังกล่าว ตนเคยเสนอแล้วมาเมื่อครั้งยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ
นางสดศรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เกิดจากการปฏิวัติรัฐประหาร มีลักษณะเหมือนว่ากำลังมองหาที่พึ่งว่าใครจะดีที่สุด
ที่จะเป็นที่พึ่งได้ มองดูว่า เอาอันไหนดี เอาทหารดีไหม ทหารไม่ดีเพราะปฏิวัติ สายตาก็ส่องไปหมด ตุลาการและศาลเท่านั้นจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จากแนวโน้มอันนี้ทำให้กลายเป็นการดึงศาลเข้ามา ในลักษณะศาลคือที่พึ่งประชาชน ให้ศาลเข้ามาดูแลด้านการเมืองด้วย
"เมื่อเอาท่านมาเล่นด้วย ท่านก็ออกไปไหนไม่ได้ จะเห็นได้ว่าองค์กรอิสระต่างๆ จะมีผู้พิพากษาเข้ามาสู่ตำแหน่งกันมาก เหมือนกับว่าผู้พิพากษายอดเยี่ยม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญก็มาจากผู้พิพากษา แต่ลืมมองว่าท่านมาอยู่แวดวงนี้ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการปกป้องดูแลอะไร เขาดึงท่านเป็นบุคคลสาธารณะที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ การละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มี ไม่เหมือนศาลทั่วไป กกต.ยิ่งไม่มีใหญ่ ไม่มีการคุ้มครองอะไรเลย ไม่มีว่าเวลาเราเดือดร้อนอะไรมีใครมาช่วยเราไหม ม็อบมาก็ฝ่าเท้าหนีเอาเองหนีให้ทัน หนีไม่ทันก็โดน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ไม่เคยส่งคนมาดูแลเรา ตอนนั้นมีการใช้คำว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่ดิฉันถามว่าระวังนะมันจะผันชื่อไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับผู้พิพากษาเลย" นางสดศรีกล่าว
ไอเดีย สดศรี ยุบ5เสือกกต. รับงานแค่จัดเลือกตั้ง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ไอเดีย สดศรี ยุบ5เสือกกต. รับงานแค่จัดเลือกตั้ง