ไอเดีย สดศรี ยุบ5เสือกกต. รับงานแค่จัดเลือกตั้ง

ไอเดีย สดศรี ยุบ5เสือกกต. รับงานแค่จัดเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ

ในฐานะอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2550 ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" ถึงแนวทางการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะข้อเสนอของนายวัฒนา เมืองสุข ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จัดสมดุลอำนาจของตุลาการ ว่า หลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ทำให้ กกต.ต้องเข้ามาแตะนักการเมือง แตะมากเท่าไร ผลกระทบจะกระเด้งเข้ามาเมื่อนั้น ดังนั้น ถ้าต่อไปข้างหน้าหากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรให้ กกต.ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเท่านั้น และให้มีศาลเลือกตั้งทำหน้าที่ออกใบเหลือง (สั่งเลือกตั้งใหม่) และใบแดง (เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง) เป็นคนที่ชี้ขาดใบเหลืองและใบแดงและประกาศผลการเลือกตั้ง โดย กกต.ควรทำหน้าที่เฉพาะเป็นพนักงานจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนการประกาศผลเลือกตั้งให้ขึ้นสู่ศาลเลือกตั้งให้หมด ศาลจะต้องพิจารณาประกาศผล และหากเกิดการร้องเรียนการเลือกตั้ง ที่จะต้องมีการพิจารณาใบเหลืองหรือใบแดงให้เป็นหน้าที่ของศาลโดยตรง

นางสดศรีกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญที่จะมีการยกร่างกันขึ้นมาใหม่ ควรระบุเลยว่า กกต.จะทำหน้าที่เพียงจัดการเลือกตั้ง
 
โดยที่ กกต.จะไม่มี 5 คนเหมือนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นลักษณะของกึ่งตุลาการอีกต่อไป ควรจะเหลือเพียงเลขาธิการ กกต. เพียงคนเดียว แล้วมอบหน้าที่ในการพิจารณาผลการเลือกตั้ง การให้ใบเหลืองใบแดงให้ศาลเลือกตั้งทั้งหมด ผู้ที่จะมาทำหน้าที่ในศาลเลือกตั้ง ก็ควรจะมาจากการเลือกตั้ง โดยที่จะต้องได้คนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อให้เกิดความสมดุลกัน แต่ไม่ใช่ว่าศาลเลือกตั้งจะมีเพียง 5 คน เหมือนจำนวนของ กกต. แต่ควรให้มีตุลาการศาลเลือกตั้งสัก 50 คน เพื่อผลัดเปลี่ยนกันมาทำหน้าที่วินิจฉัยคดีเลือกตั้ง โดยเมื่อ กกต.จัดการเลือกตั้งเสร็จก็ส่งผลเลือกตั้งให้ศาล และศาลจะพิจารณาเอง ถ้าศาลเลือกตั้งมีขึ้นมาจะตัดปัญหา แนวคิดดังกล่าว ตนเคยเสนอแล้วมาเมื่อครั้งยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ

นางสดศรีกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2550 เกิดจากการปฏิวัติรัฐประหาร มีลักษณะเหมือนว่ากำลังมองหาที่พึ่งว่าใครจะดีที่สุด

ที่จะเป็นที่พึ่งได้ มองดูว่า เอาอันไหนดี เอาทหารดีไหม ทหารไม่ดีเพราะปฏิวัติ สายตาก็ส่องไปหมด ตุลาการและศาลเท่านั้นจะเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน จากแนวโน้มอันนี้ทำให้กลายเป็นการดึงศาลเข้ามา ในลักษณะศาลคือที่พึ่งประชาชน ให้ศาลเข้ามาดูแลด้านการเมืองด้วย

"เมื่อเอาท่านมาเล่นด้วย ท่านก็ออกไปไหนไม่ได้ จะเห็นได้ว่าองค์กรอิสระต่างๆ จะมีผู้พิพากษาเข้ามาสู่ตำแหน่งกันมาก เหมือนกับว่าผู้พิพากษายอดเยี่ยม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ศาลรัฐธรรมนูญก็มาจากผู้พิพากษา แต่ลืมมองว่าท่านมาอยู่แวดวงนี้ ไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่ได้รับการปกป้องดูแลอะไร เขาดึงท่านเป็นบุคคลสาธารณะที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ การละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มี ไม่เหมือนศาลทั่วไป กกต.ยิ่งไม่มีใหญ่ ไม่มีการคุ้มครองอะไรเลย ไม่มีว่าเวลาเราเดือดร้อนอะไรมีใครมาช่วยเราไหม ม็อบมาก็ฝ่าเท้าหนีเอาเองหนีให้ทัน หนีไม่ทันก็โดน ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนก็ไม่เคยส่งคนมาดูแลเรา ตอนนั้นมีการใช้คำว่าตุลาการภิวัฒน์ แต่ดิฉันถามว่าระวังนะมันจะผันชื่อไปอีกทางหนึ่ง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับผู้พิพากษาเลย" นางสดศรีกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์