เปิดสูตรจ่ายชดเชยแก้มลิง-พื้นที่รับน้ำนอง 2 ล้านไร่ ชง "ยิ่งลักษณ์" เคาะ 3 มาตรการหลัก ให้"ค่าชดเชย-เงินช่วยเหลือ-ค่าเช่านา" ยึดหลักความเป็นธรรม ชาวบ้านสูญเสียโอกาส แถมขาดรายได้ รัฐพร้อมจ่ายตามต้นทุนการผลิตจริง 4,040 บาท/ไร่ เผยชาวนา "สุพรรณบุรี-นครปฐม" ที่ยังมีน้ำขังในที่นาค้างปีกว่าหมื่นไร่ได้อานิสงส์เป็นกลุ่มแรก
แหล่งข่าวจากกรมชลประทาน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อติดตามความคืบหน้าการเตรียมมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาอุทกภัย ระหว่างวันที่ 13-17 ก.พ.ที่ผ่านมา ล่าสุดคาดว่าจะสามารถรวบรวมพื้นที่รับน้ำทั้งพื้นที่ลุ่มต่ำสำหรับทำแก้มลิงรับน้ำ และที่นาใช้เป็นที่รับน้ำนองได้ 2 ล้านไร่ ตามที่ตั้งเป้าไว้ กระจายอยู่หลายจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่กลางน้ำและปลายน้ำตอนบน อาทิ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี สุพรรณบุรี ฯลฯ ขณะที่การกำหนดมาตรการชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรและชาวนาที่จะนำที่นาและที่ทำการเกษตรมาใช้รองรับน้ำที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานก็ใกล้จะแล้วเสร็จ รอเสนอนายกฯพิจารณา ก่อนประกาศพื้นที่รับน้ำและค่าชดเชยอย่างเป็นทางการวันที่ 27 ก.พ.นี้
3 สูตรจ่ายชดเชย พท.รับน้ำ
แนวทางการชดเชยพื้นที่รับน้ำให้ชาวนาและเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชอื่น 3 แนวทาง คือ 1.ให้ค่าชดเชย 2.ให้ค่าช่วยเหลือ และ 3.ให้ค่าเช่านา โดยยึดหลักว่า ชาวนาจะต้องมีรายได้จากการปลูกข้าวอย่างน้อย 2 รอบการผลิต/ปี และถ้าชาวนารายใดอยู่ในพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นแก้มลิงหรือพื้นที่รับน้ำนอง ไม่สามารถปลูกข้าวได้ 2 รอบการผลิต เช่น ปลูกข้าวได้เพียงครั้งเดียว หรือไม่สามารถปลูกข้าวได้เลย ส่งผลให้รายได้ขาดหายไป หรือผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมทั้งหมดหรือบางส่วน รัฐบาลก็จะจ่ายเงินชดเชยให้ ในรูปของค่าชดเชย เงินค่าช่วยเหลือ หรือค่าเช่านาตามแต่กรณี
ปัจจุบันรัฐจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนาที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 2,222 บาท/ไร่ หรือ 55% ของต้นทุนการผลิต ซึ่งตัวเลขที่ใช้เป็นฐานอ้างอิงต้นทุนการผลิตมาจากการคิดคำนวณของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โดยฤดูการผลิตล่าสุดปี 2554 ที่ผ่านมา สศก.คำนวณค่าต้นทุนเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย และค่าแรงงาน พบว่าต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ที่ 4,040 บาท/ไร่
เน้นความเป็นธรรมจ่ายตามจริง
แหล่งข่าวกล่าวว่า คณะทำงานมองว่าที่ผ่านมาการที่รัฐชดเชยค่าเสียหายให้กับชาวนาที่ประสบภัยธรรมชาติโดยจ่ายเพียงแค่ 55% ของต้นทุนการผลิต หรือ 2,222 บาท/ไร่ ไม่เป็นธรรมกับชาวนา โดยเฉพาะกรณีที่นาได้รับความเสียหายจากที่รัฐใช้ที่นาเป็นที่รับน้ำ หรือชาวนายอมเสียสละที่นาเป็นที่รองรับน้ำและต้องเร่งเก็บเกี่ยวข้าวให้เสร็จภายในเดือน ส.ค. เพื่อให้ทันรับน้ำหลากในเดือน ก.ย.-พ.ย. จึงกำหนดมาตรการจ่ายค่าชดเชยให้เป็นธรรมมากขึ้น โดยใช้ฐานตัวเลขต้นทุนการผลิตจริงเป็นเกณฑ์
ขณะที่การจ่ายชดเชยก็จะให้สอดคล้องกับความเสียหายที่เกิดขึ้น หากรัฐให้การชดเชยฯอย่างเป็นธรรมและตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ชาวบ้านก็ยอมรับได้ เนื่องจากหลายพื้นที่มีน้ำท่วมขังในฤดูน้ำหลากเป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เพียงแต่ภาครัฐต้องชี้แจงทำความเข้าใจและช่วยเหลืออย่างจริงจัง
สูตรค่าชดเชย-ช่วยเหลือ-เช่า
รายละเอียดการจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือประกอบด้วย 1.ค่าชดเชย จะจ่ายให้กับชาวนาที่ถูกนำที่นาไปเป็นที่รับน้ำ ไม่สามารถปลูกข้าวได้เลย 1 รอบการผลิต ตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน เต็ม 100% ของต้นทุนการผลิตข้าว หรือ 4,040 บาท/ไร่ 2.เงินช่วยเหลือ จะจ่ายให้กับเจ้าของที่นาที่ยอมให้รัฐใช้ที่นาหรือที่ดินปลูกพืชอื่นเป็นที่รับน้ำ แบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรก ให้ที่นาเป็นที่รับน้ำแต่ยังสามารถปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวได้ตามปกติ ผลผลิตที่ได้จะเข้าสู่ระบบรับจำนำข้าว โดยรัฐไม่ต้องจ่ายเงินช่วยเหลือ กรณีที่ 2 ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากที่มีการปล่อยน้ำเข้าท่วมขังในที่นา จะจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้ 70-80% ของต้นทุนการผลิต หรือตั้งแต่ 2,828-3,232 บาท/ไร่
3.ค่าเช่านา รัฐจะจ่ายค่าเช่าที่นาให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นหรือนาข้าวที่ถูกนำมาใช้เป็นแก้มลิงหรือพื้นที่รับน้ำนอง สำหรับกลุ่มนี้จะเป็นที่นาลุ่มต่ำและเป็นพื้นที่รับน้ำโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ช่วงฤดูน้ำหลากเจ้าของที่ดินไม่ต้องปลูกข้าวหรือทำการเกษตรอื่น แต่รัฐจะจ่ายค่าเช่านาให้ สำหรับอัตราค่าเช่านาจะคำนวณจากค่าเช่าเฉลี่ยทั้งปี หารด้วยรอบการปลูกข้าว 3 รอบการผลิต หรือ 3 คอร์ป จากนั้นจะจ่ายค่าเช่านาให้ 3 เดือน หรือ 1 รอบการผลิต
ลงทะเบียนแยกประเภทล่วงหน้า
แหล่งข่าวกล่าวว่า หลังมีการกำหนดสูตรจ่ายค่าชดเชยช่วยเหลือชัดเจน จะเปิดลงทะเบียนเจ้าของที่นาและที่ทำการเกษตรที่จะนำมารองรับน้ำทั้ง 3 ประเภท
แยกเป็น 1.จ่ายค่าชดเชย 2.เงินช่วยเหลือ และ 3.ค่าเช่า โดยใช้ข้อมูลเดิมจากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลการจดทะเบียนที่นาที่อยู่ในระบบรับจำนำข้าว และทะเบียนเกษตรกรปลูกพืชเกษตรอื่นเป็นฐานข้อมูลอ้างอิง
จากที่มีหลายฝ่ายได้หารือร่วมกันได้ข้อสรุปว่า ชาวนาที่จะได้รับเงินชดเชยตามเกณฑ์นี้เป็นกลุ่มแรก ได้แก่ ชาวนาในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและนครปฐม ที่ขณะนี้ยังมีน้ำตกค้างจากวิกฤตน้ำท่วมช่วงปลายปีที่ผ่านมาขังอยู่ในที่นา และผลผลิตได้รับความเสียหาย ซึ่งมีอยู่กว่า 1 หมื่นไร่ เนื่องจากเข้าเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนดพอดี เท่ากับจะได้รับอานิสงส์เงินช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรก โดยจะจ่ายเงินช่วยเหลือตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง 70-80% ของต้นทุนการผลิตตามสูตรค่าชดเชยใหม่ ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่จะเปิดลงทะเบียนก่อนถึงช่วงหน้าฝน ปีนี้จะมีการเตรียมมาตรการช่วยเหลือตามเกณฑ์ดังกล่าวต่อไป