ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)
เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 29 แห่ง จำนวน 66 คน เรื่อง “รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 15 – 21 ก.พ. ที่ผ่านมา พบว่า
นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 48.5 เห็นว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์น้อยกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา (รัฐบาลอภิสิทธิ์) ขณะที่ร้อยละ 28.8 เห็นว่าให้ความสำคัญพอๆกับรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และมีเพียงร้อยละ 3.0 เท่านั้นที่เห็นว่าให้ความสำคัญมากกว่ารัฐบาลชุดที่ผ่านมา
ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์มากถึงร้อยละ 98.5 เห็นว่าประเทศไทยควรสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้มีขึ้นในระบบเศรษฐกิจของไทย
โดยประเภทของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เห็นว่าเหมาะกับศักยภาพของคนไทยและรัฐบาลควรส่งเสริมมากที่สุดคือ อาหารไทย (ร้อยละ 93.9) รองลงมาเป็นประเภท ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม/ความหลากหลายทางชีวภาพ (ร้อยละ 83.3) งานฝีมือและหัตถกรรม (ร้อยละ 83.3) และแพทย์แผนไทย (ร้อยละ 65.2) ตามลำดับ
ด้านความคิดเห็นที่มีต่อองค์ประกอบของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น ร้อยละ 95.5
เชื่อว่าไทยมีทรัพยากรในท้องถิ่นที่เอื้อให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร้อยละ 74.2 เชื่อว่าไทยมีกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ร้อยละ 72.7 เชื่อว่าไทยมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนที่มีผลทางอ้อม (Multiplier effects) ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลัก ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 50 เชื่อว่าประเทศไทยไม่มีองค์ประกอบด้านระบบสังคมที่ส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์
เมื่อถามถึงความคิดเห็นที่มีต่อแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทย สินค้าของไทย หรือผู้ประกอบการไทย สามารถแข่งขันในเวทีระดับอาเซียนซึ่งจะมีการเปิดเสรีในปี 2015 ได้หรือไม่ ร้อยละ 62.1 เชื่อว่ามีส่วนสำคัญช่วยให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีอาเซียน
สำหรับปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญในการนำแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้กับประเทศไทย คือ ปัญหาการเมืองทำให้การดำเนินนโยบายขาดความต่อเนื่อง
ขาดความชัดเจน ขาดรายละเอียด และขาดวิสัยทัศน์ ขณะที่ผู้บริหารและบุคลากรภาครัฐไม่มีความรู้ความเข้าใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมถึงสื่อไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร (ร้อยละ 43.9) รองลงมาเป็นระบบการศึกษายังล้าสมัย ไม่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนไทยไม่ใช่นักคิดนอกกรอบ กรอบแนวคิดของคนไทยยังแคบ (ร้อยละ 22.0) และขาดการวิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง รวมถึงการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (ร้อยละ 17.1)