เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 9 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นางสดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ
กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) มีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำนวน 34 คน ว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ส่วนหนึ่งควรมาจากตัวแทนประชาชนและนักวิชาการสายรัฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ที่มีความเป็นกลาง หากคณะกรรมการฯ 34 คนไม่มีตัวแทนจากประชาชนก็จะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ ตนจึงขอเสนอให้มี ส.ส.ร. ที่มาจากตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการจำนวน 22 คน และให้ส.ว.เลือกตั้ง จำนวน 77 คนซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนประชาชนมาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อช่วยประหยัดงบประมาณ และไม่ถูกครหาจากหลายฝ่าย ส่วนกรณีที่ คอ.นธ. เสนอตั้งคณะกรรมการฯที่มีรายชื่อจากหลายฝ่ายไม่ได้เป็นการยุติความขัดแย้งในสังคม เพราะผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อบางคนก็รีบออกมาปฎิเสธทันที แสดงว่าการตั้งคณะกรรมการฯชุดนี้ไม่ได้ผล อย่างเช่นฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ไม่ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้การยอมรับซึ่งกันและกันเป็นไปได้ยาก
ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือทำให้ประชาชนเข้าใจว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่ออะไร
ผู้แก้ไขรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมาจากตัวแทนกลุ่มการเมือง เพราะเมื่อครั้งการร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็ใช้สมาชิกสมัชชาแห่งชาติที่มีทุกภาคส่วนคัดเลือกมาเป็น ส.ส.ร. ซึ่งถือเป็นเรื่องดี เพราะจะมีตัวแทนกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ แต่ถ้าจะใช้การเลือกตั้งส.ส.ร.เหมือนกับการเลือกตั้ง ส.ส.ก็เป็นการดีเช่นกัน
นางสดศรี กล่าวต่อไปว่า การมี ส.ส.ร. เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะลดข้อโต้แย้งได้ เพราะขณะนี้บางคนก็ปฎิเสธไม่ยอมรับเข้าเป็นหนึ่งในกรรมการ 34 คน
ซึ่งเป็นการตั้งขึ้นมาเหมือนการปิดปากเขา โต้แย้งอะไรไม่ได้ ดังนั้นการมี ส.ส.ร.โดยมีกรรมการฯ 34 คน ไม่น่าจะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญราบรื่น ดังนั้นควรใช้วิธีเดิมในการเอาตัวแทนของแต่ละจังหวัด และถ้าต้องการให้ประหยัดงบประมาณก็ขอเสนอให้นำ ส.ว.เลือกตั้ง มาเป็น ส.ส.ร. พร้อมด้วยนักวิชาการอีก 22 คน รวมเป็นส.ส.ร.จำนวน 99 คน ทั้งนี้กระบวนการที่จะให้ ส.ว.เลือกตั้ง มาเป็น ส.ส.ร. จะต้องมีการเปิดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา291 เพื่อให้อำนาจ ส.ว.เลือกตั้ง มาเป็น ส.ส.ร. ซึ่งน่าจะทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เป็นการใช้ระบบนิติบัญญัติ โดยใช้เสียงข้างมากของสมาชิกรัฐสภา หากให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ถ้ามีการเลือกตั้งขึ้น ทางภาคเหนือและภาคอีสานก็จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย และภาคใต้ก็เป็นคนของพรรคประชาธิปัตย์ คงก็ไม่อะไรที่แตกต่างจาก ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง แม้กฎหมายจะไม่ได้บอกไว้ว่า ส.ว.ให้สังกัดพรรคการเมือง แต่ก็พอมองดูออกว่าคนไหนเป็นคนของสังกัดพรรคใด เป็นธรรมดาของระบบการเมือง.