ขอให้จับตา 1 คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ หรือ กยอ. 1 คณะกรรมการเพื่อวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หรือ กยน. ให้ดี
เพราะนี่คือ ตัวจริงในแนวทางแห่ง "กระทรวงน้ำ"
เพราะนี่คือ ตัวจริงในแนวทางแห่งการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ อย่างที่เรียกกันหรูๆ ว่า ประเทศไทย "ใหม่"
เป็น "นิว" ไทยแลนด์ ภายหลังวิกฤต "น้ำท่วม" ใหญ่
เห็นได้จาก กยน.ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำและทำงานเรื่องน้ำสัมพันธ์กับโครงการพระราชดำริมาอย่างยาวนาน เช่น นายสุเมธ ตันติเวชกุล นายกิจจา ผลภาษี นายปราโมทย์ ไม้กลัด เป็นต้น
เห็นได้จาก กยอ.ประกอบด้วยหัวแถวอย่าง นายวีรพงษ์ รามางกูร ตามมาด้วย นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายวิษณุ เครืองาม นายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เก่งในเรื่องการคิดประสานกับการบริหารทั้งสิ้น
พลังที่ประชุม กยน.เมื่อวันที่ 6 มกราคม เห็นชอบแผนแม่บทและแผนการใช้เงินวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามที่ กยน.เสนอมา
นั่นเท่ากับหลังพิงอย่างทรงพลังในการขับเคลื่อน พ.ร.ก.4 ฉบับสำคัญ
หากสังเกตกระบวนการทำงานของคณะกรรมการทั้ง กยอ.และ กยน.ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2554 จะเห็นว่ารวดเร็วอย่างยิ่ง
เพียงไม่เกิน 2 เดือนก็มีคำตอบให้รัฐบาล มีคำตอบให้ประชาชน
เป็นคำตอบอันนำไปสู่การเสนอเป้าหมายซึ่งมาจากถ้อยแถลงของ นายวีรพงษ์ รามางกูร ประธาน กยอ. ที่ว่า
"ภายใน 1 ปีจากนี้ไปต้องทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าในปีหน้า (คือปี 2555) หากฝนตกต้องไม่เกิดเหตุการณ์อุทกภัยเช่นนี้ขึ้นอีก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ"
ต้องยอมรับว่า ความเชื่อมั่น ความมั่นใจจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจาก 2 ปัจจัยที่สำคัญ
ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยของการบริหารจัดการ ปัจจัย 1 คือ ปัจจัยที่ว่าเรื่องเหล่านี้ต้องใช้เงินอย่างมหาศาลแล้วจะเอาเงินมาจากไหน
ปัจจัยเรื่องเงินก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ
คำตอบเริ่มเห็นเด่นชัดในเดือนมกราคม 2555 เมื่อรัฐบาลเตรียมเสนอออกพระราชกำหนด 4 ฉบับสำคัญ 1 การโอนภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดูแล 2 การจัดตั้งกองทุนสร้างอนาคตประเทศ 3 การจัดตั้งกองทุนประกันภัย 4 การให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม
เป็นความเด่นชัดในท่ามกลางกระแสต่อต้านคัดค้านจากบางฝ่าย บางพวก บางพรรค
ต้องยอมรับว่าหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินจำนวน 1.44 ล้านล้านบาทจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2540 เป็นภูเขาลูกใหญ่
เป็นภูเขาลูกใหญ่ที่สามารถชำระเงินต้นได้เพียง 300,000 ล้านบาท
เป็นภูเขาลูกใหญ่ที่มีการชำระดอกเบี้ยไปแล้วเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 600,000 ล้านบาท
ณ วันนี้ จำนวนหนี้สินคงเหลืออยู่ที่ 1.14 ล้านล้านบาท โดยที่ไม่มีคำตอบว่า กระทรวงการคลังจะต้องใช้เงินปีละ 65,000 ล้านบาทชำระดอกเบี้ยไปอีกกี่ปี โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ไม่มีคำตอบว่าจะชำระเงินต้นได้หรือไม่
ภูเขาลูกนี้แบกกันมาตั้งแต่รัฐบาล นายชวน หลีกภัย เมื่อปี 2541 กระทั่งถึงรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในปี 2554
และตกมาอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การริเริ่มของคณะกรรมการ กนอ.ในเรื่อง พ.ร.ก. 4 ฉบับผ่านรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องสำคัญ ต้องอาศัยความกล้าหาญเป็นอย่างมาก ต้องอาศัยการคิดนอกกรอบและคำนึงถึงอนาคตของประเทศเป็นอย่างมากจึงจะสามารถขับเคลื่อนไปได้
พวกหัวสี่เหลี่ยม พวกม้าลำปาง ไม่สามารถคิดได้อย่างแน่นอน
ที่สำคัญบางพวกอาจคิดได้ แต่ก็ขาดความกล้าอย่างเพียงพอที่จะลงมือทำให้เป็นจริง
การหาเงินจำนวนร่วม 700,000 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูและสร้างอนาคตใหม่ให้กับประเทศจึงสำคัญ
เป็นความสำคัญที่อยู่ในการตัดสินใจอันเด็ดเดี่ยวและหาญกล้าของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นยุทธวิธีเฉพาะหน้าเพื่อบรรลุยุทธศาสตร์ใหญ่เพื่อวางรากฐานให้กับประเทศในอนาคต
เรื่องอย่างนี้คนโง่ทำไม่ได้หรอก นายกรัฐมนตรีโง่และขี้ขลาดก็ทำไม่ได้
อนาคต ประเทศ ในมือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องฉลาด และกล้า
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง อนาคต ประเทศ ในมือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องฉลาด และกล้า