ดีเอสไอเล็งเรียก‘เทือก’ให้ปากคำที่มาผังล้มเจ้า
วันที่ 2 ม.ค. พ.ต.อ.ประเวศน์ มูลประมุข รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับคดีความมั่นคงแห่งรัฐ (คดีล้มเจ้า)
ยอมรับแม้จะผ่านมานานกว่า 1 ปี แต่การดำเนินคดีความผิดตามแผนผังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ยังไม่คืบหน้า และไม่ทราบที่มาที่ไปของรายชื่อที่ปรากฏอยู่ในผัง หรือผู้เขียนผังขึ้นมาว่าใช้หลักฐานและเหตุผลใด นำไปสู่การเชื่อมโยงและระบุชื่อบุคคล
ดังนั้นคาดว่าหลังผ่านช่วงปีใหม่แล้ว จะเชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และผอ.ศอฉ.เข้าให้ปากคำ สำหรับความคืบหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับคดีล้มเจ้าขณะนี้ ได้แยกคดีออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ คดีการกระทำความผิดในประเทศและนอกประเทศ ซึ่งใช้กฎหมายต่างกัน
โดยคดีในต่างประเทศการดำเนินคดีจะต้องหารือในรายละเอียด เพราะมีปัญหาว่าส่วนใหญ่คดีมาจากผู้กล่าวหาไปอ่านข้อความจากหนังสือพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ต ว่ามีคนให้สัมภาษณ์และมีข้อมูลปรากฏในสื่อ เช่น กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อไทม์ออนไลน์ ในต่างประเทศถือว่าเป็นการแสดงความเห็นไม่ผิดกฎหมาย แต่ในประเทศไทยการให้สัมภาษณ์เช่นนี้ทำไม่ได้ ถือเป็นปัญหาที่การกระทำในแบบเดียวกันผิดกฎหมายในประเทศหนึ่ง แต่ไม่ผิดกฎหมายในอีกประเทศ ทำให้การสอบสวนไม่ได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ และมีปัญหาด้านพยานหลักฐาน
พ.ต.อ.ประเวศน์ กล่าวต่อว่า คดีล้มเจ้าเดิมมีการถูกรับเป็นคดีพิเศษ ในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน และมีการกล่าวหาบุคคลตามผังศอฉ.ว่าเป็นขบวนการล้มเจ้าในลักษณะขององค์กรอาชญากรรม มีการแบ่งหน้าที่ทำเป็นขบวนการ แต่ในหมวดการกระทำความผิด ดูหมิ่น อาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามม. 112 ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายความมั่นคงแห่งรัฐ ไม่มีการระบุถึงข้อหาที่เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรม ส่วนใหญ่การกระทำความผิดในม. 112 จะเป็นความผิดส่วนบุคคล
เช่น คดีนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ นายจักรภพ เพ็ญแข นายใจ อึ้งภากร นางดารณี ชาญเชิงศิลปะชัย(ดา ตอร์ปิโด) นายชูพงษ์ ถี่ถ้วน ดังนั้นการที่อ้างว่ามีกลุ่มบุคคลกระทำความผิดตามม.112 แสดงว่าจะต้องมีการร่วมกันหมิ่นประมาท อาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการชุมนุมที่มีการปราศรัย หากพบว่ามีการกระทำผิดจริงต้องแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับบุคคลกลุ่มนี้
การทำคดีของพนักงานสอบสวนดีเอสไอที่ผ่านมา มีแต่ข้อกล่าวหามีการระบุชื่อผู้กระทำความผิด แต่ไม่ได้บอกว่าทำเมื่อไหร่ ที่ไหนและอย่างไร หลังการปฏิวัติเมื่อ 2549 จนถึงปัจจุบันมีการใช้มาตรา 112 แจ้งข้อกล่าวหา แต่ไม่มีการระบุสถานที่และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
การที่ดีเอสไอรับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษเพื่อนำคดีต่างๆ มาเชื่อมโยงกันแล้วพิสูจน์ว่า เป็นการกระทำของบุคคลหรือไม่ ซึ่งได้แยกแยะแล้วพบว่า คดีหมิ่นสถาบันฯ ที่เกี่ยวกับคดีล้มเจ้า มีมากกว่า 30 คดี ในจำนวนนี้มี 16 คดีที่เป็นการกระทำความผิดนอกประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการกระทำความผิดเฉพาะบุคคล