เป็นธรรมเนียมของทุกปีที่ครบรอบ 1 ปี ทุกฝ่ายจะได้รวบรวมเหตุการณ์ที่ผ่านไป สำหรับเหตุการณ์เด่นทางการเมืองในรอบปี 2554 “ทีมการเมือง เดลินิวส์” ได้จัด 10 เหตุการณ์เด่นไว้ดังนี้
1. นักการเมืองแจ้งเกิดเร็วที่สุด
หลังพรรคเพื่อไทยมีมติเอกฉันท์เลือก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นแม่ทัพสู้ศึกเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. ด้วยเวลาเพียง 49 วัน บนเส้นทางการเมือง“ยิ่งลักษณ์” ก็เป็นผู้หญิงคนแรกที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวัย 43 ปี น้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ผู้นำไทย แต่เมื่อเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลมีสารพัดปัญหารุมเร้าโดยเฉพาะการเมืองที่วน ๆ เวียน ๆ อยู่กับเรื่องของ “พี่ชาย” ล่าสุดเจอน้ำท่วมใหญ่ แม้จะบอกว่า “เอาอยู่” แต่นิคมอุตสาหกรรม 7 แห่งต้องปิดตัวชั่วคราว ประชาชนนับล้านเดือดร้อน สิ่งเหล่านี้คือบทพิสูจน์ น่าจับตาว่าในปี 55 “ยิ่งลักษณ์” นอกจากจะมา ไวที่สุด แล้วจะอยู่ในตำแหน่ง “นายกฯ” ได้นานเท่าใด??
2. อาถรรพณ์แก่งกระจาน ฮ.ทบ.ตก 3 ครั้ง
เป็นเหตุการณ์ช็อกความรู้สึก จากภารกิจช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ที่ตกค้างอยู่ในป่าหลังเข้าจับกุมผู้บุกรุกลักลอบตัดไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เมื่อวันที่ 16 ก.ค. เฮลิคอปเตอร์พุ่งชนเขาและหายไปในป่าบริเวณต้นน้ำเพชร เขตรอยต่อ จ.เพชรบุรี กับ จ.ราชบุรี ต่อมา พล.ต.ตะวัน เรืองศรี ผบ.พล.ร.9 กองกำลังสุรสีห์ ฉก.ทัพพระยาเสือ จ.กาญจนบุรี ขึ้น ฮ.แบล็กฮอว์ก เพื่อไปนำศพน้อง ๆ กลับบ้าน แต่ก็กลายเป็นข่าวร้าย ครั้งที่ 2 และวันที่ 24 ก.ค. ฮ.แบบ เบลล์ 212 ก็เจออาถรรพณ์แก่งกระจานตกเป็นครั้งที่ 3 ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ของกองทัพบกเพียง 9 วัน ต้องเสียกำลังพล 17 นาย พลเรือน 1 คน
3. สภาผู้แทนราษฎร เปิดซักฟอกไวที่สุด
การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ตลอด 4 เดือนมีงานเข้าตลอด ตั้งแต่เปิดสมัยประชุมวันที่ 1 ส.ค. มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 5 ส.ค. รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา วันที่ 23-25 ส.ค. และเมื่อเกิดวิกฤติอุทกภัยก็เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปตาม ม.176 ในวันที่ 11 พ.ย. และจากปัญหาถุงยังชีพ ของ ศปภ. กลายมาเป็น การยื่นญัตติเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล (พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม) ก่อนเปิดศึกซักฟอกในวันที่ 27 พ.ย. ก่อนลงมติผ่านฉลุยด้วยคะแนนเสียง 276 ต่อ 188 ในวันที่ 28 พ.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการประชุมถือว่าเป็นครั้งแรกที่มีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจสมัยแรกของการเปิดสมัยประชุมสภา เพียง 3 เดือน หลังรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
4. 2011 มหาอุทกภัยถล่ม ศปภ.
จากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ทำให้รัฐบาลต้องรับมือด้วยการตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เมื่อวันที่ 8 ต.ค. มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรม เป็นผอ.ศูนย์ การทำงานของ ศปภ.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การแต่งตั้งผอ.ศปภ. การแต่งตั้งส.ส.พรรคเพื่อไทย 4 คนเป็นกรรมการบริหารจัดการถุงยังชีพ ความบกพร่องในการแจกจ่ายถุงยังชีพและสิ่งของบริจาคที่แปรสภาพมาเป็น “ถุงปลิดชีพ” ที่นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ศปภ.ยังถูกตำหนิถึงการไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะวลีเด็ด “เอาอยู่” ที่ทำให้ กทม.หลายพื้นที่จมบาดาลหลายเดือน ส่งผลให้ ศปภ. ถูกถล่มรายวัน
5. “ปรองดอง” วาระจับตาแห่งปี
เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล หลายฝ่ายจับตาถึงแนวทางเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองและ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ในระยะยาว มีการตั้งคณะกรรมการหลายชุด ได้แก่ คณะกรรมการอิสระ ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อค้นหาความจริงและวางแผนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายม็อบในปี 53 คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. (ปคอป.) มาติดตามหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำข้อเสนอของ คอป.ไปทำให้เห็นผล และยังมีคณะกรรมการอิสระว่าด้วยหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ทำหน้าที่เสนอรายงานปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ในส่วนของสภาก็ตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ จึงน่าจับตาดูว่าในปี 55 บทบาทของกรรมการชุดต่าง ๆ จะเป็นเช่นไร และการปรองดองจะทำได้จริงหรือไม่
6. จาก “ไพร่” ใส่สูทสู่สภา
การชุมนุมของ คนเสื้อแดง เป็นส่วนหนึ่งที่กดดันให้มีการยุบสภา เมื่อมีการประกาศเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยก็สมนาคุณ ตอบแทน ให้กับแกนนำกลุ่มเสื้อแดงและเครือญาติเข้ามาอยู่ในบัญชีรายชื่อ ส.ส.ระดับต้น ๆ ชนิดที่มั่นใจได้ว่า ลอยลำ เข้าสภาแน่นอน และผลการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ทำให้ได้ ส.ส.เกือบ 20 คน ที่เรียกตัวเองว่า “ไพร่” นอกจากนี้ “กระบวนการต่างตอบแทน” ยังไม่จบ เพราะเสื้อแดงระดับเฮดที่อกหักจากเก้าอี้ ส.ส. ก็ผงาดขึ้นมาในตำแหน่งการเมืองอื่น ๆ ทั้งที่ ปรึกษา-เลขานุการรัฐมนตรี เช่น นายอารี ไกรนารา นั่งเก้าอี้เลขานุการ มท.1 นายชินวัฒน์ หาบุญพาด อดีตคนขับแท็กซี่ นั่งเก้าอี้ที่ปรึกษา รมช.คมนาคม และการปรับ “ครม.ปู2” ที่จะเกิด จะยังเป็นปีทองของคนเสื้อแดงอีกหรือไม่
7. ค่าจ้าง 300 บาท เขย่าแรงงานไทย
การประกาศ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ จนทำให้พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายก็มีการเลี่ยงบาลีเรียกเป็น “รายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300 บาท” ทำให้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเพียงการหาเสียงไม่สามารถทำได้จริงและเพื่อไม่ให้เสียคะแนน รัฐบาลจึงมอบหมายให้ “คณะกรรมการค่าจ้างกลาง” คิดสูตรค่าจ้างที่ทุกฝ่ายรับได้ จนมีแนวทางในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 40% จากเดิมจะปรับ วันที่ 1 ม.ค. 55 แต่เกิดน้ำท่วมจึงเลื่อนมาบังคับใช้ในวันที่ 1 เม.ย. 55 จากนั้นจะทยอยปรับขึ้นค่าจ้างจนครบ 300 บาท ในวันที่ 1 ม.ค. 56 แต่มีเงื่อนไขว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างอีก 2 ปี จึงต้องดูว่าจะทำได้จริงหรือไม่เพราะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเตรียมฟ้องศาลปกครองแล้ว
8. ฟันรุกป่าวังน้ำเขียว-สกัดแก๊งลอบตัดไม้พะยูง
การแก้ปัญหาการ บุกรุกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่บุกรุกอุทยานแห่งชาติทับลาน และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวงในเขต อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นข่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ก.ค. จนรื้อถอน รีสอร์ท ใหญ่ 8 แห่ง กลางเดือน ธ.ค. แม้จะมีการจัดม็อบออกมาต้านแต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็จัดเต็ม โดยยึดคำสั่งศาลเป็นหลัก พิสูจน์ให้ดูชัด ๆ ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่มีสิทธิอยู่ในป่าอนุรักษ์ที่เป็นสมบัติของชาติได้ นอกจากนั้นทส.ยังทุ่มงบกว่า 250 ล้านบาท เดินหน้าชนกับแก๊งลักลอบตัดไม้พะยูงสกัดไม่ให้ไม้พะยูงผืนสุดท้ายของโลกเหลือแห่งเดียวในเมืองไทยต้องกลายเป็นสินค้าส่งออกไปยังแดนมังกร
9. ป.ป.ช.ชี้มูลคดีประวัติศาสตร์ 12 ปี คลองด่าน
คดี ทุจริตบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน มูลค่า 2.3 หมื่นล้าน มาถึงมือ ป.ป.ช. ปี 42 ผู้ถูกร้องรวม 36 ราย ใช้เวลา 12 ปี ก่อนชี้มูลวันที่ 8 ธ.ค. 54 โดยนายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย ถูกสอบเพิ่มในเรื่องการสั่งการให้ อบต.คลองด่านใช้ที่ดินของตัวเองเป็นที่ตั้งโครงการ นายยิ่งพันธุ์ มนะสิการ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์ฯ มีความผิดเพราะแก้ไขสเปกและเปลี่ยนงบประมาณโครงการเอื้อประโยชน์ แต่นายยิ่งพันธุ์เสียชีวิตไปแล้วจึงให้คดีตกไป ส่วนนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีต รมช.วิทยาศาสตร์ฯไม่พบว่ามีความผิดและไม่เกี่ยวข้องกับการประกวดราคา
10. คนแดนไกล จอมบงการแห่งปี
การเมืองไทยไม่เคยหลุดพ้นจากชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ยังระหกระเหินอยู่แดนไกล เพราะตลอดลมหายใจเข้า-ออก ของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย-มวลชนคนเสื้อแดง ต่างก็เคลื่อนไหวเพื่อพา “ทักษิณกลับบ้าน” ล่าสุดลงทุนนำ น้องสาว มาเป็นหุ่นเชิดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อถึงช่วงฝุ่นตลบชิงเก้าอี้รัฐมนตรี ทุกสายก็บินข้ามหัว “นายกฯปู” ไปหา คนแดนไกล แม้แต่การโฟนอินเข้ามาสั่งงานรัฐมนตรีก็ถือเป็นเรื่องปกติ และเมื่อลูกสาวแต่งงานหัวอก คนเป็นพ่อ ก็อยากกลับบ้านมาร่วมงาน ถึงกับมีการเตรียมเสนอ พระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ แต่เมื่อฝ่ายตรงข้ามเริ่มออกมาเคลื่อนไหว จึงต้องเก็บเรื่องนี้เอาไว้ จึงต้องจับตาดูว่าในปี 55 คนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร จะมีเรื่องอะไรที่จะมาเสนอจนถึงขั้น เขย่าสังคม ให้เกิดเหตุการณ์ “ม็อบ” ชน “ม็อบ” อีกหรือไม่.