วันนี้ ( 26 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ในรายการฟ้าวันใหม่ ทาง Blue Sky Channel เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า
ต้องยอมรับว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้ระบุเอาไว้ตอนแถลงนโยบายต่อสภาฯ และได้ใช้หาเสียงด้วย แต่นายกฯ ต้องออกมายืนยันว่านโยบายเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร จะใช้กระบวนการอย่างไร และไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมล้างผิด หากทำอย่างนี้ก็จะได้ดำเนินการไปตามกระบวนการ ถ้าจะแก้มาตรา 291 เพื่อให้มี ส.ส.ร. ก็ไม่ควรพูดว่าจะไปแก้มาตราไหน เพราะเป็นหน้าที่ ส.ส.ร. ที่จะไปดู ยกเว้นแต่ว่าเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้ง เช่นหมวดประมหากษัตริย์ ที่คนส่วนมากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขอะไร
“นอกจากนี้ควรจะต้องพูดให้ชัดว่าเรื่องนิรโทษกรรมด้วยวิธีการที่จะพยายามไปลบล้างนั้น มาตรา 309 เป็นอย่างไรกันแน่ ในความเห็นผมมองว่ามาตรา 309 เป็นมาตราที่เป็นบทเฉพาะกาล คือใช้ไปแล้วและจบไปแล้ว ถ้าบอกว่ามันไม่จบแล้วก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมามากมายว่า จากรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 309 ที่บอกว่าที่เกิดขึ้นก่อนหน้าจะมีรัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากมีการรัฐประหาร ให้ถือว่ามีผล แต่ถ้าบอกว่าไม่มีผล จะไม่ยอมรับอะไรเลยหลังรัฐประหาร ก็แสดงว่าจะไม่รับรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งก็จะเป็นเรื่องแปลกเพราะมีการทำประชามติรับไปแล้ว และก็จะไล่มาเรื่อยที่คุณสดศรี (สัตยธรรม กกต.)บอกถ้าอย่างนั้นรัฐบาลชุดนี้ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน เพราะมาจากรัฐประหารเหมือนกัน” นายอภิสิทธิ์ กล่าวและว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง และการเลือกตั้งมาจากรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญก็มาจากรัฐประหาร แม้กระทั่งการตั้ง ส.ส.ร. หากมีคนใช้ตรรกะเดียวกันนี้ ส.ส.ร. ก็มาจากสภาฯ ชุดนี้ สภาชุดนี้มาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งมาจากรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐธรรมนูญก็มาจากรัฐประหาร ดังนั้น ส.ส.ร. ก็ตั้งไม่ได้อีก
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ตนไม่เข้าใจว่าความพยายามที่พูดถึงบทเฉพาะกาลนั้น โดยอ้างการลบล้างรัฐประหารแล้ว ความจริงต้องการจะลบล้างอะไร
แต่เท่าที่ทราบเป้าหมายคือพยายามหาทางที่จะสื่อว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)นั้นมาจากรัฐประหาร เพราะคตส.เอาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และรัฐบาลขณะนั้น มานำเสนอเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ตนย้ำว่าในอดีตเวลาที่คณะรัฐประหารเข้ามายึดอำนาจแล้วใช้อำนาจทางการบริหาร มีการยึดทรัพย์ อะไรต่าง ๆ ไม่ได้เป็นกระบวนการที่ผ่านศาล อย่างตอน ปี 34 มีการไปยึดทรัพย์นักการเมืองหลายราย สุดท้ายแล้วนักการเมืองเหล่านั้นไปร้องต่อศาล และศาลตัดสินว่าจะเอาคำสั่งของฝ่ายบริหารไปสั่งยึดทรัพย์ไม่ได้ ก็ต้องคืนทรัพย์สินให้ แต่กรณีการยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ผ่านกระบวนการของศาล แต่ประเด็นนี้ คตส.ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน ศาลไม่จำเป็นต้องเชื่อตามนั้น อย่างกรณีคดีกล้ายาง ศาลตัดสินไม่ตรงกับที่ คตส. หรือ ปปช.ยื่นฟ้องเสมอไป บางกรณีก็ยกฟ้อง ตนคิดว่าเราเอาความจริงมาพูดกันดีกว่าว่ามีความพยายามจะทำอะไร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงโครงการทวายว่า เป็นโครงการที่รัฐบาลพม่าก่อนการเลือกตั้งได้มีการผลักดันมาก
โดยนายกรัฐมนตรีของพม่าในขณะนั้นเคยยกแบบจำลองมาที่หัวหิน วันประชุมอาเซียนในประเทศไทย แล้วได้มีการพูดคุยกัน โดยมีรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นผู้สนับสนุน โดยเห็นว่าโครงการนี้จะเป็นการเปิดประตูฝั่งอันดามัน ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีธุรกิจท่องเที่ยว หากทำเป็นท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมหนักแล้ว ก็ยังหาทำเลที่เหมาะสมไม่ได้ และเห็นว่า ทวาย ห่างจากชายแดนไทยเพียง 100 กว่า กม. เท่านั้น ไทยสามารถใช้ทวายเป็นประตูฝั่งอันดามันได้ รัฐบาลชุดที่แล้วจึงมีแนวทางปรับปรุงทั้งถนน และรถไฟ เพื่อเชื่อมกับทางฝั่งตะวันออกของไทย เพื่อให้ไทยมีทางออกทั้งฝั่งอ่าวไทย และฝั่งอันดามัน นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมหลายอย่างที่อยู่ใน Supply Chain หากไทยมีการร่วมลงทุน หรือมีการเชื่อมโยงกับพม่าก็จะเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย อีกทั้งเป็นการเชื่อมโยงอาเซียน รวมไปถึงจะเป็นโอกาสในการสร้างงานในพม่า อันจะช่วยลดแรงกดดันในเรื่องแรงงานพม่าในประเทศไทย
“เราอย่าไปตกใจว่าเพื่อนบ้านเรากำลังจะมีตรงนี้ขึ้นมา ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี ขณะเดียวกันการแข่งขันเรื่องการเงิน การลงทุนต่าง ๆ ก็ต้องมีแน่นอน แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะไปมองว่าดึงไปจากเรา แต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยเสริมเราด้วย แต่ในแง่ของการเพิ่มพูนขีดความสามารถทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนก็ต้องเดินหน้าทำต่อไป อยู่ที่เราว่าจะใช้ประโยชน์อย่างไร และไม่ให้เราเสียประโยชน์อย่างไร”