วันที่ 26 ธ.ค. นายจักรพล บัวโฮม ประธานชุมนุมรัฐศาสตร์สโมสรนิสิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
แถลงข่าวการตั้งฉายาสถาบันทางการเมืองครั้งที่ 2 ประจำปี 2554 โดยให้ฉายารัฐบาลชุดนี้เป็น “ปูอบวุ้นเส้น” เพราะมวลชนที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลพยายามเรียกตัวเองว่าเป็นไพร่ จึงเปรียบเหมือนวุ้นเส้นที่เล็กกว่าเส้นหมี่ แต่มีความเหนียวแน่นในการรวบ และตัวชี้วัดความอร่อยของอาหารจานนี้อยู่ที่วุ้นเส้น ไม่ใช่ปู เพราะปูอาจถูกแทนที่ด้วยกุ้งหรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่นได้
รัฐสภาได้ฉายาว่า “สภาจิ้งหรีด” เพราะมุ่งเถียงกันแต่เรื่องไม่เป็นเรื่อง พรรคเพื่อไทยได้ฉายา “นักประดาน้ำ” เพราะแทนที่จะมีบทบาทช่วยเหลือประชาชนประสบภัยน้ำท่วม กลับฉวยโอกาสเรื่องของบริจาคที่ศปภ. ประหนึ่งเป็นนักประดาน้ำ อาศัยช่วงน้ำหลากขับเคลื่อนวาระแอบแฝง
พรรคประชาธิปัตย์ ฉายา “หล่อรอเสียบ” จุดขายหลักของพรรคประชาธิปัตย์มายาวนานคือเรื่องความหล่อ ทั้งรูปร่างหน้าตาและคำพูดคำจา
แต่ลงเลือกตั้งคราวใดมักแพ้ จึงรอเสียบด้วยสารพัดเทคนิควิธี การเล่นการเมืองแบบคาบลูกคาบดอก พรรคภูมิใจไทย ได้ฉายาว่า “ห้อยตกบัลลังก์” เพราะแม้พรรคภูมิใจไทยจะอุดมด้วยกระสุน วาดฝันจะเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกครั้งแต่ได้รับเลือกเพียง 34 คน และต้องตกบันไดไปเป็นฝ่ายค้าน
กองทัพ “อัศวินม้าหงอย” ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ กองทัพเปรียบเสมือนม้าที่ได้หญ้าดีน้ำดี มีอัศวินผู้ขี่รู้ใจ ม้าจึงคึกคะนองกระโดดโลดเต้นอยู่เสมอ แต่พอเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทยกองทัพเสมือนม้าขาดหญ้าขาดน้ำ ได้อัศวินที่เป็นคู่อาฆาต ต้องอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฉายา “พระเอกตอนจบ” ช่วงอุทกภัยการถอดชุดเครื่องแบบ เปลี่ยนเป็นเสื้อยืดคอกลมสีขาวสกรีนตัวอักษร “ตำรวจ”กับกางเกงขาสั้น แสดงถึงการเข้าอกเข้าใจ เป็นมิตร ขณะเดียวกันยังมีสำนึกในหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนเป็นที่นิยมชมชอบ กลายเป็นแฟชั่นระบาดไปทั่วเมืองสมกับเป็นพระเอกตอนจบ
ส่วน กทม. (กรุงเทพมหานคร) ฉายา “หม้อไฟต้มยำ”
เพราะกทม. กับ ศปภ. ทะเลาะกันแต่ชาวบ้านซวย ส่วนศปภ. (ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย)ได้รับฉายาว่า ศูนย์ปิดบังภัยพิบัติ เพราะปิดบังซ่อนเร้นข้อมูลที่แท้จริง และวาทะแห่งปี “เอาอยู่”