แก้ไข รัฐธรรมนูญ ยุทธศาสตร์ แจ่มชัดยิ่ง ขึ้นกับ ยุทธวิธี
หากประเมินจากน้ำเสียงของ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ประสานเข้ากับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประสานเข้ากับ พ.อ.อภินันท์ วิริยะชัย
ภายในพรรคเพื่อไทยมิได้ "ขัดแย้ง" กันในเรื่องการจัดการกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
ทั้ง 3 คนอันถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของพรรคเพื่อไทยแถลงตรงกันว่า จะต้องมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ระบุเวลาด้วยซ้ำไปว่าต้องภายใน 1 ปี
เพราะไม่เพียงแต่เป็นสัญญาประชาคมที่พรรคเพื่อไทยประกาศในห้วงของการหาเสียง หากที่สำคัญยิ่งกว่านั้น
1 ยังเป็น "นโยบาย" ของพรรคเพื่อไทย
ขณะเดียวกัน 1 ยังได้กำหนดเอาไว้ใน 1 ในนโยบาย "เร่งด่วน" ที่รัฐบาลได้แถลงต่อรัฐสภาว่าจะดำเนินภายในระยะเวลา 1 ปี
ขณะเดียวกัน หากฟังเสียงของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อย่างละเอียด รอบด้าน
"แม้จะเป็นนโยบายตามที่ได้หาเสียงไว้ช่วงก่อนการเลือกตั้ง แต่ก็ระบุว่าจะทำภายใน 1 ปี แต่ขณะนี้รัฐบาลเพิ่งทำงานมาได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น"
"เวลา" ต่างหากที่ภายใน "พรรคเพื่อไทย" ยังไม่ได้กำหนด
จากนี้จึงเห็นได้ว่า ในทางยุทธศาสตร์ พรรคเพื่อไทย และรัฐบาล ต้องเดินหน้าในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
ปมเงื่อนอยู่ตรง "เวลา" อันเป็นเรื่องในทาง "ยุทธวิธี"
ปมเงื่อนอยู่ตรงที่การบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนเรื่องนี้จะทำอย่างไรจึงจะไม่สะเปะสะปะ อันเป็นเรื่องในทาง "ยุทธวิธี" อีกเหมือนกัน
ความเห็นต่างภายในพรรคเพื่อไทยจึงเป็นความเห็นต่างในเรื่อง "เวลา"
ความเห็นต่างภายในรัฐบาลจึงเป็นความเห็นต่างในเรื่องกระบวนการอันนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ
กระนั้น หากประเมินจากท่าทีของ "วิปรัฐบาล" ยิ่งเห็นความคืบหน้า
มติที่ประชุมวิปรัฐบาลเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม คือ "เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ" ซึ่งอาจเป็นในเดือนมกราคม หรือไม่ก็เดือนกุมภาพันธ์ 2555
นี่เป็น "ธง" ที่ปรากฏ "นำ" หน้าไปแล้ว
สะท้อนให้เห็นว่าโดยพื้นฐาน ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ไม่ว่าพรรคพลังชล ไม่ว่าพรรคมหาชน ล้วนมีความเห็นร่วมอันเป็นเอกภาพ
คือ ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในสมัยประชุมนิติบัญญัตินี้แน่นอน
จุดอันเปราะบางเป็นอย่างมากที่หลายฝ่ายหวั่นเกรงยังอยู่ที่เนื้อหาการแก้ไข ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายของรัฐบาล ไม่ว่าจะมาจากฝ่ายค้าน และไม่ว่าจะมาจากฝ่ายต่อต้าน
แม้จะหวั่นเกรง แต่ก็เป็นความหวั่นเกรงอันว่างโหวง
ในเมื่อเป้าหมายการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แล้วจะหวั่นเกรงไปทำไม
เพราะทุกอย่างล้วนอยู่ในความรับผิดชอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญ
ทุกอย่างล้วนจะดำเนินไปตามที่ นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล สรุป นั่นก็คือ
"ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะมีการแก้ไขมาตราไหน อย่างไร เนื้อหาที่จะแก้ไขขึ้นอยู่กับสภาร่างรัฐธรรมนูญ เราเพียงแต่เปิดทางให้มีการแก้ไข"
นี่จึงมิได้เป็นเรื่องของรัฐบาล นี่จึงมิได้เป็นเรื่องของพรรคการเมือง
หากแต่ในที่สุดแล้วก็เป็นเรื่องที่สำแดงผ่านการแก้ไขมาตรา 291 อันนำไปสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีพื้นฐานมาจากการเลือกของประชาชน 77 จังหวัด และการเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเพื่อเป็นส่วนประกอบ
การคัดค้าน ต่อต้าน จึงไปรวมศูนย์อยู่ที่กระบวนการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และกระบวนการยกร่างอันจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากกว่า
จึงไม่น่าเป็นความวิตกของพรรคเพื่อไทย จึงไม่น่าเป็นความวิตกของรัฐบาล
รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจึงต้องสร้างเอกภาพทางความคิดในเรื่องการบริหารจัดการรัฐธรรมนูญ
ควรศึกษาบทเรียนจากรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ประสานเข้ากับบทเรียนจากรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นการศึกษาโดยการหาสัจจะจากสภาพความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด
อาศัยเพียงสังหรณ์ อาศัยเพียงความจัดเจนไม่ได้ ต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงเท่านั้น