มุมมองของ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกพนักงานสอบสวนเรียกเข้าชี้แจงกรณีการสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ
ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องการเมือง
ไม่ต่างจาก "สุเทพ เทือกสุบรรณ" อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ.
ที่มีมุมมอง และวิธีคิดที่ไม่แตกต่างกัน
หากมองในแง่ความเป็นจริง กรณีดังกล่าว ไม่ใช่เฉพาะคนไทยตาดำๆ ที่เจ็บปวดจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
ยังมีช่างภาพชาวญี่ปุ่น และนักข่าวชาวอิตาลี ที่ต้องมาจบชีวิตลงจากเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย
ต้องยอมรับว่า ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีเต็ม ที่การเสียชีวิตของคนไทย "ความเป็นจริง" ไม่ได้ถูกทำให้ปรากฏ
เช่นเดียวกับช่างภาพญี่ปุ่น และนักข่าวอิตาลี
ไม่น่าแปลกใจที่ทางการญี่ปุ่นและสำนักข่าวรอยเตอร์ซึ่งเป็นต้นสังกัดของช่างภาพชาวญี่ปุ่น จะลงทุนลงแรง จ้าง "นักสืบในทางลับ" เพื่อหาข้อมูลการเสียชีวิตที่แท้จริง
การดำเนินการดังกล่าวของทางการญี่ปุ่นและสำนักข่าวรอยเตอร์ เท่ากับเป็นการ "ตบหน้า" กระบวนการสืบสวนหาข้อเท็จจริงของทางการไทย
ที่ดูเหมือนต้องการให้ "ความตาย" หายไปกับ "สายลม"
การที่ "อภิสิทธิ์" พยายามพูดหรือโยงให้เป็นเรื่องการเมือง โดยมี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็น "ตัวละคร" สำคัญในการดำเนินการทางการเมือง
มุมหนึ่ง อาจเกิดจากความรู้สึกที่ว่า การเมืองต้องการเอาคืน
แต่อีกมุมหนึ่ง อาจจะถูกมองได้ว่านี่คือความพยายาม "เบี่ยงเบน" ให้เป็นทางการเมือง
จริงอยู่ ร.ต.อ.เฉลิม เป็น "ปฏิปักษ์" กับพรรคประชาธิปัตย์ แต่อย่าลืมว่า ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
มีหน้าที่โดยตรงกับการเร่งสะสางคดี 91 ศพ ให้เกิดความโปร่งใส สะอาด ถูกต้อง และเป็นธรรม
การไม่ดำเนินการ หรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความล่าช้าต่อรูปคดี อาจถูกดำเนินการตามมาตรา 157 ฐานละเว้นหรือไม่ปฏิบัติตามหน้าที่
อีกทั้ง ยังจะถูกมองจากนานาชาติว่า รัฐบาลไทยไม่จริงจัง และจริงใจในเร่งค้นหาความจริงให้ปรากฏ
จากคำพูดของ "อภิสิทธิ์" ที่ว่า
"..หาก ร.ต.อ.เฉลิมบอกว่า ใครมีหลักฐานข้อมูลอะไร ควรนำมาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสอบสวน เพราะเป็นการสอบสวนในรัฐบาลนี้อยู่แล้ว เหตุใดจึงใช้วิธีการออกมาพูดชี้นำ การกระทำเช่นนี้ถือเป็นเจตนาชัดว่าจะพยายามให้เป็นประเด็นทางการเมือง"
หรือคำพูดที่ว่า
"..การออกมาแสดงบทบาท เป็นเพราะ ร.ต.อ.เฉลิม อยากแสดงตน เพื่อเอาอกเอาใจใครที่อยากจะเอาใจ ไม่ทราบ เพราะจะมีการปรับ ครม.หรือไม่ ตรงนี้ต้องตั้งคำถามกลับไปที่รัฐบาลว่า ถ้าอยากจะให้เกิดความปรองดองก็ควรมาร่วมกันให้ผู้ที่มีหน้าที่ในการค้นหาความจริง ไม่ใช่เอาเรื่องมาเป็นประเด็นสร้างเรื่องกล่าวหากันทางการเมือง"
จะพบว่า ไม่มีสักประโยคที่บอกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอดีตรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมรับผิดชอบ หากผลการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา
เพราะต้องไม่ลืมว่า ศอฉ. ภายใต้การนำของ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" มีกำลังทหารจากทุกเหล่าทัพเป็น "เครื่องกลหนัก" ในการรักษาความสงบและปกป้องความมั่นคงของชาติ
และเครื่องกลหนักเหล่านั้น ต้องปฏิบัติตาม "คำสั่ง" ของผู้บังคับบัญชาในเวลานั้น ก็คือ "อภิสิทธิ์-สุเทพ"
ที่ในทางการสอบสวนพบว่า มีหนังสือออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน
จริงอยู่ การทำหน้าที่ของ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่า ทำหน้าที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและปกป้องความมั่นคงของชาติ
ไม่มีใครเถียง
หากแต่คนอย่าง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ไม่รู้เลยหรือว่า การสลายการชุมนุมหลังตะวันตกดินจะนำมาซึ่งความสูญเสีย
ซึ่งตามหลักสากลไม่มีประเทศไหนในโลกเสรีประชาธิปไตยกระทำกัน
ที่สำคัญเป็น "ความเสี่ยงอย่างสูง" ที่จะทำให้ "มือมืด" หรือ "มือที่สาม" เข้ามาร่วมผสมโรงในการสร้างความสูญเสีย
จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนเสียชีวิตจำนวนมาก
และคนที่เสียชีวิตไม่ได้ถูกยิงต่ำกว่า "หัวเข่า" ตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาบางคน
เพราะบางศพถูกยิงเข้าที่ "หน้าผาก"
แน่นอนว่าคนอย่าง "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ที่เป็นคนไทยและมีเลือดสีเดียวกับคนไทยทุกคน ย่อมไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย
หากแต่ในฐานะ "ผู้บริหารสูงสุด" เวลานั้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อคนไทยด้วยกัน จะต้องมี "คนรับผิดชอบ"
ซึ่งเป็นความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่
หาก "อภิสิทธิ์-สุเทพ" เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของไทยอย่างที่เคยพูดอยู่เสมอ
หน้าที่-ความรับผิดชอบ อภิสิทธิ์-สุเทพ เส้นขนานคดี 91 ศพ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง หน้าที่-ความรับผิดชอบ อภิสิทธิ์-สุเทพ เส้นขนานคดี 91 ศพ