มติชน 5 ธันวาคม 2554
การเดินทางไปให้ปากคำของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 8 ธันวาคม เกี่ยวกับเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553
มีลักษณะประวัติศาสตร์
เช่นเดียวกับ การเดินทางไปให้ปากคำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 9 ธันวาคม เกี่ยวกับเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553
ก็มีลักษณะประวัติศาสตร์
เป็นการให้ปากคำเพราะว่าเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรับผิดชอบในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
เป็นการให้ปากคำเพราะว่ามีนายทหารที่ออกปฏิบัติการในการขอคืนพื้นที่ในวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นปฏิบัติการตามคำสั่งของผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
เป็นการให้ปากคำเพราะว่าศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จัดตั้งขึ้นภายใต้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
เป็นการให้ปากคำเพราะว่ามีคนตายจากคำสั่งอันมาจากนายกรัฐมนตรี
มองในเชิงเปรียบเทียบ มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดในความพยายามคลี่คลายคดีอันเกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ระหว่างรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับ รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
เป็นความแตกต่างในเรื่อง "บทสรุป"
เป็นความแตกต่างในเรื่อง "ความคืบหน้า" ของรูปคดี
กล่าวสำหรับรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีบทสรุปตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 แล้วว่าการตายที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งที่เรียกว่า "ชายชุดดำ"
แต่ที่แปลกก็คือ เป็นบทสรุปซึ่งไม่มีความคืบหน้า
1 ไม่มีความคืบหน้าว่า "ชายชุดดำ" เป็นใคร ขณะเดียวกัน ไม่มีความคืบหน้าในเรื่องการจัดทำสำนวนเพื่อส่งให้อัยการ
จากเดือนเมษายน 2553 จนถึงเดือนเมษายน 2554 ไม่มีการขยับขับเคลื่อน
ต่อเมื่อผ่านการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2554 และรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดินนับแต่วันที่ 25 สิงหาคม เป็นต้นมานั้นหรอก จึงได้มีการนำสำนวนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษมามอบให้กองบัญชาการตำรวจนครนาลดำเนินการชันสูตรพลิกศพ 13 ศพ ความคืบหน้าจึงได้เกิดขึ้น
กระทั่งมีการเรียกตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปให้ปากคำ
ที่ว่าการไปให้ปากคำของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ มีลักษณะประวัติศาสตร์
1 เพราะว่าเป็นครั้งแรก
สถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 ไม่มีการเรียกตัว จอมพลถนอม กิตติขจร สถานการณ์เดือนตุลาคม 2519 ไม่มีการเรียกตัว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สถานการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ไม่มีการเรียกตัว พล.อ.สุจินดา คราประยูร
แต่สถานการณ์เดือนเมษายน 2553 มีการเรียกตัว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ไปให้ปากคำ
ขณะเดียวกัน 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากการเรียกตัวเป็นไปตามกฎหมาย
เป็นการเรียกตัวของเจ้าพนักงานสอบสวนแห่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลโดยความเห็นชอบของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
มิได้เป็นการเรียกตัวหรือเชิญตัวโดยคำสั่งคณะปฏิวัติ
มิได้เกิดขึ้นโดยกระบวนการไต่สวนในแบบของ คตส.อันเป็นผลจากคำสั่งจากการรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549
หากแต่ดำเนินไปโดยการให้นโยบายของรัฐบาลอันมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
บทสรุปจะออกมาอย่างไรขึ้นอยู่กับการให้ปากคำและการไต่สวนขั้นต่อไปของศาล
คุณูปการของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หากมองเชิงเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้
ประการหนึ่ง อยู่ตรงที่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำเนินตามหลักนิติธรรม ประการหนึ่ง อำนาจในการสอบสวน อำนาจในการวินิจฉัย ขึ้นอยู่กับตำรวจ ขึ้นอยู่กับอัยการ
และที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลยุติธรรมตามกระบวนการพิจารณา