เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาสถาบันพระปกเกล้า โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
เป็นกรรมการสภาสถาบันพระปกเกล้า กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีการพิจารณากรณีที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ เป็นประธาน โดยขอให้ทางสถาบันพระปกเกล้า ศึกษาเกี่ยวกับแนวทางปรองดองภายใน 30 วัน ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการปรองดอง เป็นเรื่องที่สถาบันสามารถศึกษาได้ แต่มีข้อสังเกตว่าระยะเวลาคงไม่ใช่ 30 วัน ตามความต้องการของกรรมาธิการ แต่ทางสถาบันพระปกเกล้าจะทำให้เร็วที่สุด และยังกังวลเรื่องที่มีความสลับซับซ้อนอาจจะทำไม่เสร็จภายใน 90 วัน นอกจากนี้ มีการอภิปรายถึงผลกระทบทางการเมืองและความเหมาะสมของขอบเขตงานวิจัย ในที่ประชุมจึงสรุปว่าจะไม่มีการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมตามที่มีการเสนอมา แต่เป็นการศึกษาหลักการมากกว่า โดยนายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และนักวิชาการจะเป็นผู้ดำเนินการ
นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า รายละเอียดของการศึกษาคงจะดูภาพรวมทั้งหมด จากประสบการณ์ของต่างประเทศ เกี่ยวกับกระบวนการปรองดองว่าจะต้องทำอย่างไร ซึ่งในชั้นนี้ไม่มีการปฏิเสธแนวทางไหนทั้งสิ้น รวมทั้งเรื่องนิรโทษกรรม แต่จะไม่มีการยกร่างกฎหมาย
เมื่อถามว่า อาจจะมีการใช้ผลการวิจัยไปเป็นข้ออ้างในการร่างกฎหมายนิรโทษกรรม นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังสรุปล่วงหน้าไม่ได้
ซึ่งกรรมการเน้นในเรื่องของยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน จะต้องประสานกับทาง คอป. ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าคงไม่ยอมเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ใคร โดยหน้าที่ของผู้วิจัยจะต้องดำเนินการเพื่อลดความขัดแย้งไม่ใช่เสนอในสิ่งที่เพิ่มเติมความขัดแย้งและโครงร่างที่จะศึกษาวิจัยอาจไม่ตรงกับความต้องการของกรรมาธิการที่เสนอมา เนื่องจากสถาบันมีอิสระทางวิชาการ ส่วนกรรมาธิการจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีการเสนอเป็นร่างกฎหมาย แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สามารถเสนอกฎหมายได้เองอยู่แล้ว สถาบันพระปกเกล้าต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระทางวิชาการ และกล้าที่จะพูดทุกเรื่อง ไม่อยู่ในอาณัติของฝ่ายใด ทั้งนี้ การศึกษาจะไม่ไปแทรกแซงหรือทับซ้อนกับการทำงานของ คอป.ที่มีหน้าที่โดยตรงและทำงานอย่างต่อเนื่อง และจะไม่ตั้งคำอธิบายว่าความขัดแย้งเกิดจากใครแต่จะชี้ให้เห็นว่ามีข้อเสนอที่แตกต่างอย่างไร เพื่อให้เกิดข้อเปรียบเทียบและจะไม่ทำในเรื่องการร่างกฎหมาย เพราะเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการออกกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องท้ายๆ ของกระบวนการปรองดอง แต่ไม่ใช่เรื่องเดียว ถ้าทำต้องดูทั้งระบบ
ด้านนายวุฒิสารกล่าวว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นหนึ่งแนวทางที่จะเสนอหรือไม่นั้น คงสรุปเช่นนั้นไม่ได้
เพราะจะทำในเชิงกระบวนการหาคำตอบให้เท่านั้น เงื่อนไขสำคัญต้องดูหลักนิติรัฐว่าอะไรทำได้ทำไม่ได้ ซึ่งตนไม่อยู่ในฐานะที่จะตอบว่าการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ เพราะต้องรอผลการศึกษาวิจัยก่อน และประสบการณ์ในหลายประเทศก็มีทุกอย่างไม่ได้แปลว่ามีนิรโทษกรรมอย่างเดียว และคำว่านิรโทษกรรมไม่ได้แปลว่าเกี้ยเซี้ย หรือยอมกันไปหมด จึงขอวอนอย่างเร่งรัดเรื่องคำตอบ เพราะจะทำให้การศึกษาวิจัยขาดความเป็นอิสระซึ่งทีมงานวิจัยจะเดินหน้าโดยยึดกรณีศึกษาเป็นหลัก ส่วนสังคมจะให้ความเชื่อถือผลการศึกษาอย่างไรคงตอบไม่ได้ แต่ยืนยันสถาบันมีความเป็นกลางทางการเมือง อยู่ภายใต้การกำกับของสภา มีตัวแทนจากหลายฝ่าย จึงมีความเป็นกลางสูงและตนในฐานะผู้วิจัยยืนยันว่ามีความเป็นอิสระพอสมควร