พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวทางรายการ "เรื่องเล่าเช้านี้"ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 อสมท วันนี้ (11 ม.ค.) ถึงกรณี คมช. เชิญผู้บริหารสื่อมวลชนเข้าหารือเพื่อขอความร่วมมือในการเสนอข้อมูลข่าวสาร วานนี้ ว่า
ที่ผ่านมา คมช.ต้องใช้ความอดทนเป็นอย่างสูง ต่อการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนบางส่วน
ที่พยายามแสดงให้เห็นถึงการเพิกเฉยต่อประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 10 ที่มีใจความสำคัญขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้ช่วยกันนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่สร้างสรรค์ เพื่อไม่ให้ประชาชนในชาติเกิดความสับสน
ห้ามเป็นกระบอกเสียงทักษิณ คมช.ฮึ่มสื่อยกกฎอัยการศึกขู่
โฆษก คมช. กล่าวต่อว่า
ใจความสำคัญของการหารือวานนี้ ไม่ได้เป็นการห้ามนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงแต่อย่างใด สื่อสามารถนำเสนอข่าวสารใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ได้เช่นปกติ แต่สิ่งที่ คมช.ขอความร่วมมือ คือ จากนี้ไป ไม่ต้องการให้นำแถลงการณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี บทสัมภาษณ์ของแกนนำพรรคที่เป็นรัฐบาลเดิม หรือ นำบทแถลงการณ์ต่างๆมาวิเคราะห์วิจารณ์ขยายความเพิ่มเติม ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกสับสน
เหตุการณ์วันที่ 19 ก.ย.ที่เกิดขึ้น
สามารถพูดได้ว่า ขณะนั้นสังคมไทยเกิดความแตกแยกแบ่งฝ่ายชัดเจน คมช.พยายามจะนำไปสู่ความสงบเรียบร้อย จึงไม่อยากให้เดินไปสู่จุดเดิมก่อนวันที่ 19 ก.ย.อีกครั้ง จากการตอบโต้กันไปมาจนทำให้เกิดความสับสน"
โฆษก คมช.กล่าวและว่า การจะแก้ข้อกล่าวหาของ อดีต นายกัฐมนตรี มีกลไก มีขั้นตอนที่ชัดเจน เมื่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ดำเนินการชี้มูล หรือ อาจจะเป็นการแก้ข้อกล่าวหาในกระบวนการชั้นศาลยุติธรรมได้ ซึ่งการแก้ข้อกล่าวผ่านสื่อมวลชนทำให้ประชาชนที่ต้องการให้ประเทศชาติเกิดความสงบอาจเกิดความไม่สบายใจ
ผู้สื่อข่าวถามว่า คมช. ไม่ต้องการให้ตอบโต้กันไปมา เนื่องจากเกรงปัญหาคลื่นใต้น้ำใช่หรือไม่
โฆษก คมช.กล่าวว่า ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา ะไม่สามารถหาผู้กระทำผิดไม่ได้ แต่พฤติกรรมที่ประชาชนสัมผัสได้ด้วยตนเองการเผาโรงเรียน วางระเบิด 8 จุดในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ช่วง ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การปล่อยข่าวความแตกแยกใน คมช. การปฏิวัติซ้ำ ปฏิวัติซ้อน เป็นความตั้งใจของกลุ่มผู้ไม่หวังดี นำไปสู่การที่สื่อบางส่วนวิเคราะห์วิจารณ์ขยายความ
ขณะนี้มีข้อมูลข่าวสาร ว่า บางพื้นที่บางจังหวัดในภูมิภาคเริ่มมีการขยับการเคลื่อนไหว คมช.จึงเห็นว่า อะไรก็ตามที่จะนำไปสู่การสร้างความไม่สงบเรียบร้อย จำเป็นต้องมีการออกมาตรการป้องกัน เพราะนอกจากประกาศ คปค. ฉบับที่ 10 แล้ว คมช. ยังมีกฎอัยการ มาตรา 11 ที่สามารถห้ามการจำหน่ายจ่ายแจกสื่อสิ่งพิมพ์ รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารทางวิทยุและโทรทัศน์ได้ด้วย
การสัมภาษณ์ของแกนนำรัฐบาลที่แล้ว มักจะมีถ้อยคำออกมาตลอดเวลา ว่า
การทำหน้าที่ของ คตส. ป.ป.ช. นั้น คมช.ได้ตั้งธงให้แล้ว ว่า ต้องมีความผิดให้ได้ ซึ่งไม่เป็นความจริง หาก คมช. ลุอำนาจ ณ วันนี้ถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว แต่การที่ คมช. ปล่อยให้ ป.ป.ช. คตส. ดำเนินการตามกฎหมายทำให้เกิดความล่าช้า จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขณะนี้ สร้างความสับสนต่อประชานว่า เหตุใด คมช.จึงปล่อยให้ตัวแทนอดีตนายกรัฐมนตรีตอบโต้ คมช.อย่างต่อเนื่องเช่นนี้ " โฆษก คมช.กล่าว และว่า
เมื่อมีการชี้แจงและเข้าใจร่วมกันแล้วหากสื่อบางส่วนยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ปฏิบัติในลักษณะที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจต่อประชาชนเช่นเดิม ก็จะมีการเชิญไปหารือเป็นรายสื่อไป
ยืนยันว่า
คมช.พร้อมรับฟังวิพากษ์วิจารณ์เช่นเดิม แต่เห็นว่าไม่น่าจะเหมาะสม ที่จะรับฟังความคิดเห็นของอดีตพรรคการเมืองเก่าที่เป็นรัฐบาล ซึ่งเป็นชนวนสร้างความแตกแยกในชาติ จุดเกิดความวุ่นวายสับสน เมื่อวันที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา" โฆษก คมช.กล่าว
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดย: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ