บทบาท 2 อดีตนายกฯ ซ้ำเติมประเทศ ´บอบช้ำ´

"ระเบิดลือ ! ปฏิวัติซ้อน"


ในห้วงสัปดาห์แรกของปี 2550 สถานการณ์ทางการเมืองทวีความร้อนแรงมากขึ้น หลังจากสิ้นเสียงระเบิดพร้อมๆ กัน ถึง 6 จุด

ในช่วงเย็นวันสิ้นปี 31 ธันวาคม 2549 และอีก 2 ครั้ง ในเวลาเที่ยงคืนของรอยต่อปี 2550 วิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ความเสี่ยงในการเกิดเหตุการณ์ระเบิดยังอยู่ในระดับสูงเช่นเดิม เพราะเกิดความตึงเครียดทางการเมืองเพิ่มขึ้น ถึงขั้นเกิดข่าวลือว่าจะเกิดปฏิวัติซ้อนในคืนวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังปรากฏข่าวจากอดีตนายกรัฐมนตรี 2 คน คือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีปี 2540 และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คนล่าสุด ที่ออกมาตอบโต้ข้อสันนิษฐานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ที่พาดพิงไปถึงกลุ่มผู้สูญเสียอำนาจทางการเมืองว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ

แม้ว่าจะเป็นสิทธิอันชอบธรรมของอดีตนายกรัฐมนตรีในฐานะคนไทยคนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อปกป้องตนเองจากการกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม แต่ด้วยสถานะอดีตนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ชวลิต ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวและท้าทายให้ออกหมายจับโดยทันที พร้อมกับการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและคมช.ว่าอ่อนด้อยประสบการณ์ในการปกครอง

"ทักษิณโต้ เปล่าทำ!"


ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ใช้จดหมายจากปักกิ่งชี้แจงด้วยถ้อยคำเชิงตอบโต้อย่างรุนแรงและยังชี้นำข้อสันนิษฐานไปว่าเกิดจากโจรใต้ ย่อมเพิ่มความสับสนงุนงงให้กับสังคมมากขึ้น หลังจากผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงจากการลอบวางระเบิดถึง 8 จุด ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองหลวง จึงทำให้เกิดความตื่นตระหนกมากยิ่งขึ้น ว่าความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลและคมช.กับอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคนกำลังจะนำไปสู่สถานการณ์ไม่ปกติอีกแล้ว

อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคน จึงควรจะตระหนักและระมัดระวังถึงผลกระทบในเชิงจิตวิทยาสังคม หลังจากออกมาตอบโต้กันด้วยถ้อยคำที่รุนแรง ได้ทำให้สังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงอยู่ในสภาพตึงเครียดมากขึ้น หลังจากหวาดวิตกในการขู่วางระเบิดในช่วง 3-4 วันที่ผ่านมา อยู่แล้ว คำพูดและท่าทีของอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคน จึงมีผลอย่างยิ่งกับการเพิ่มอุณหภูมิการเมืองให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ภายหลังรัฐประหารผ่านมากว่า 3 เดือน ที่ยังปรากฏคลื่นใต้น้ำก่อเหตุความไม่สงบวางเพลิงเผาโรงเรียนในต่างจังหวัดหลายสิบแห่ง การลอบวางระเบิดในกรุงเทพฯ ถึง 8 จุด ถือเป็นปรากฏการณ์คลื่นใต้น้ำที่มุ่งหวังเพิ่มน้ำหนักทำลายความน่าเชื่อถือในการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ และคมช.อย่างชัดเจน

แม้ว่าการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ล้มล้างยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมเป็นอย่างยิ่ง หากเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยของประเทศตะวันตก แต่เนื่องจากพฤติกรรมเหลิงอำนาจและใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรมในการบริหารประเทศ

"ร่องรอยความไม่ชอบธรรม"


โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน การทุจริตคอร์รัปชันและการใช้กลไกอำนาจรัฐทำลายผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ฯลฯ แม้ว่ารัฐบาลทักษิณจะมาอย่างชอบธรรมจากการเลือกตั้ง แต่การใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม จนสังคมเกิดความแตกแยกอย่างรุนแรง ที่นำไปสู่การยึดอำนาจอย่างไม่ชอบธรรมจากคณะนายทหารที่ผ่านพ้นไปอย่างไม่เสียเลือดเนื้อของคนไทยด้วยกัน ห้วงเวลาดังกล่าวถือว่าประเทศไทยได้พบกับความบอบช้ำจากเกมอำนาจทางการเมืองของกลุ่มพลังต่างๆ มามากเกินกว่าจะรับได้อีกต่อไปแล้ว

จึงอยากจะขอร้องให้อดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคน คือ พล.อ.ชวลิต และ พ.ต.ท.ทักษิณ ลองทบทวนบทบาทในฐานะอดีตผู้นำประเทศที่แสดงออกมาตลอดกว่า 3 เดือน ว่าเพื่อสร้างสรรค์สังคมให้สงบดีขึ้นหรือเพื่อผลประโยชน์ตัวเองเป็นหลัก

เพราะปรากฏร่องรอยชัดเจนว่าอดีตนายกรัฐมนตรีทั้งสองคน ยังมุ่งหวังจะกลับมาครองอำนาจการบริหารอีกครั้งและกำลังเดินเกมทางการเมืองเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลชุดนี้และคมช. โดยไม่ได้สนใจกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเดินหน้าตามกระบวนการของการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ซึ่งจะนำไปสู่การเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ ที่จะได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มีความชอบธรรมมากกว่ารัฐบาลชุดนี้ และ คมช.ที่ยืนยันหลายครั้งว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ

แม้ว่าสังคมยังไม่เชื่อมั่นมากนัก แต่ผู้นำสังคมไทยในทุกภาคส่วน ควรจะต้องช่วยกันให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเดินหน้าไปอย่างชอบธรรม เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง ที่ปิดช่องทางผู้นำโกงกิน ใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์