คดีภาษีหุ้นชินฯไม่จบ ป.ป.ช.ไม่ไว้วางใจ′อสส.′

ที่มา - นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แถลง กรณีอัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฎีกาคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี,นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน และให้รอลงอาญานายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คดีเลี่ยงภาษีหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ 27 กันยายน

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติได้มอบหมายให้มาแถลงข่าวในเรื่องดังนี้


กรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฎีกาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดี ระหว่างอัยการสูงสุดเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์กับพวกเป็นจำเลย ในความผิดต่อประมวลรัษฎากร ซึ่งเรื่องนี้ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณากลับคำพิพากษาของศาลอาญา และปรากฏว่า อัยการสูงสุดได้แถลงที่จะไม่ฎีกาในคดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาว่า คดีนี้จะดำเนินการได้หรือไม่ โดยได้ตรวจสอบว่าคดีนี้เกิดจากการที่คณะกรรมการ คตส. ซึ่งตั้งขึ้นโดยประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย(คปค.) อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 โดยคณะกรรมการ คตส.ได้ใช้อำนาจการประกาศดังกล่าวใน ข้อ 5 (4) ที่ได้ให้อำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จะเห็นได้ว่าในอำนาจใน ข้อ 5(4) เป็นเรื่องการดำเนินการตรวจสอบบุคคลธรรมดาซึ่งไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นการกระทำความผิดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงภาษีอากร ฉะนั้นคณะกรรมการตรวจสอบได้ใช้อำนาจตามข้อ 5 (4) ดำเนินการ ซึ่งในคำสั่งของ คปค. ฉบับที่ 30 ดังกล่าวในข้อ 9 วรรคท้ายได้เขียนไว้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดทำผิดกฎหมายและไม่อยู่ในบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น

ฉะนั้นคดีนี้จึงเป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการตรวจสอบตามอำนาจในข้อ 5 (4) และเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการตรวจสอบได้ส่งให้อัยการ แล้วอัยการก็ยื่นฟ้องต่อศาล เมื่อยื่นฟ้องต่อศาลแล้วพยานทั้งหลายก็เป็นเรื่องที่อัยการเป็นผู้ที่นำสืบต่อศาล เมื่อศาลอาญาได้มีคำพิพากษา ทางฝ่ายจำเลยได้อุทธรณ์ ก็เป็นเรื่องของอัยการที่จะดำเนินการอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ เมื่ออุทธรณ์แล้วการพิจารณาจะฎีกาหรือไม่ เป็นอำนาจของอัยการสูงสุดที่จะดำเนินการ ฉะนั้นเมื่ออัยการสูงสุดไม่ฎีกาในเรื่องนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการต่อไปได้ ฉะนั้นคดีนี้จึงถือเป็นที่สุด ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้แล้ว

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า กรณีนี้พนักงานหรืออัยการสูงสุดจะดำเนินการโดยถูกต้องหรืออย่างไร ชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ในประเด็นนี้เป็นเรื่องของ พรบ.กฎหมาย ป.ป.ช.ว่า หากจะมีการร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐจะดำเนินการได้โดย

1.ยื่นคำร้องขอถอดถอนเจ้าหน้าที่รัฐ โดย ส.ส.1 ใน 4 หรือประชาชน 20,000 คน ยื่นคำร้องขอถอดถอนไปยังประธานวุฒิสภา กล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าทุจริต ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่ง ส่อว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม ส่อว่ากระทำการขัดต่อบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย นี่คือประเด็นการถอดถอน

2.มีคำร้องยื่นมาที่ ป.ป.ช.ขอให้ดำเนินการไต่สวน

3.คณะกรรมการ ป.ป.ช.หยิบยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นมาดำเนินการได้

ขณะนี้ยังไม่มีคำร้องในเรื่องของการถอดถอน ยังไม่มีผู้ร้องมาที่ ป.ป.ช.ให้ดำเนินการไต่สวนในเรื่องนี้

ประเด็นที่ ป.ป.ช.พิจารณาว่าได้หยิบยกเหตุอันควรสงสัยขึ้นมาดำเนินการได้ ในชั้นนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2554 โดยมีมติให้แจ้งพนักงานอัยการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ และขอสำเนาคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์มาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช.ได้มีหนังสือที่ กช 0012/0742 ลงวันที่ 12 กันยายน 2554 จึงเรียนมาเพื่อทราบและพิจารณาดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้น ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.แล้ว เมื่ออัยการไม่ฎีกาก็ถือว่าเรื่องจบ

แต่กรณีที่พิจารณาว่าจะดำเนินการตามที่มีกระแสข่าวว่า จะดำเนินการกับอัยการหรือไม่นั้น ขณะนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
 
1.ยังไม่มีคำร้องขอถอดถอน และไม่มีคำร้องให้ดำเนินคดีเข้ามา การจะหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาด้วยเหตุอันควรสงสัยนั้นจะต้องมีข้อเท็จจริงและมีข้อมูลเพียงพอที่จะหยิบยกขึ้นมาในครั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังไม่มีข้อมูลและข้อเท็จจริง คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ 1.ขอคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ต่ออัยการสูงสุด เพื่อนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับคำพิพากษาของศาลอาญา

2.ให้ตรวจสอบและขอคำวินิจฉัยของอัยการสูงสุดเพื่อนำมาพิจารณา

3.ให้ดำเนินการตรวจสอบฎีกาต่างๆ ในคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล และในกรณีที่ศาลอุทธรณ์ได้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และเป็นเรื่องที่อัยการฎีกาคดีนั้นหรือไม่ อย่างไร ซึ่งวันนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้มีการตรวจสอบได้มา 5 ฎีกาแล้ว ขณะนี้ ป.ป.ช.กำลังรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อจะพิจารณาต่อไป ฉะนั้นในเรื่องของฎีกาคดีนี้เป็นอันจบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจในการดำเนินการต่อไปได้ สำหรับเกี่ยวกับเรื่องอัยการสูงสุดนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องรวบรวมประมวลหลักฐาน เพราะจะต้องมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอต่อการดำเนินการ หรือถ้าได้รับเรื่องจากการถอดถอนหรือมีผู้ร้องเข้ามาก็จะได้พิจารณาว่า คำร้องขอถอดถอนหรือคำร้องเข้ามานั้นมีข้อมูลหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการต่อไปได้หรือไม่

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์