เมื่อวันที่ 19 ก.ค.ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง กระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง มีผู้ร่วมประชุมอาทิ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คณะกรรมการกฤษฎีกา และนายอำพน กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางดำเนินการภายหลังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ศาลโลก)พิจารณาคำร้องของฝ่ายกัมพูชาแล้ว
ภายหลังประชุมกว่า 1 ชม. นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า ได้วิเคราะห์คำสั่งศาลโลกเรื่องมาตรการชั่วคราวที่ออกมาเมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา
เชิงข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย ซึ่งในส่วนของข้อเท็จจริงนั้น ถ้าดูจากพิกัดที่ถูกระบุในคำสั่งของศาลโลก พบว่าพื้นที่ปลอดกำลังทหารซึ่งศาลโลกกำหนดขึ้นเองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู คร่อมสันปันน้ำขนาด 17.3 ตารางกิโลเมตร จากการคำนวณคร่าวๆ ถ้ายึดสันปันน้ำเป็นเขตแดนตามจุดยืนของไทย จะเป็นพื้นที่ของกัมพูชา 8.8 ตารางกิโลเมตร และเป็นของไทย 8.5 ตารางกิโลเมตร ซึ่งรวมพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตรอยู่ด้วย ประมาณ 4.5 ตารางกิโลเมตร แต่ถ้าเป็นไปตามมุมมองของกัมพูชา จะพบว่ากัมพูชาต้องถอนทหารออกไปถึง 13 ตารางกิโลเมตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคำสั่งของศาลโลกไม่ได้ระบุเฉพาะดินแดนไทย
กต.ชี้ศาลโลกหวังลดความตึงเครียด เหตุตัดสิน เขตปลอดทหาร
นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ได้ประเมินกำลังทหารที่เกี่ยวข้องว่าในส่วนของกัมพูชามีทหารราว 4,00 นาย
ขณะที่ฝ่ายไทยมีน้อยกว่าค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามการถอนทหารนั้น ฝ่ายไทยและกัมพูชาต้องพูดคุยกันก่อน แต่ขณะนี้กำลังพลของเรายังอยู่ในที่ตั้ง และการดูแลพื้นที่ประเทศไทยนั้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆของเรายังเข้าดูแลได้ ส่วนคำสั่งห้ามไทยไม่ให้ขัดขวางการเข้าถึงตัวปราสาทพระวิหารเพื่อการส่งน้ำและอาหารนั้น เป็นเรื่องที่ไทยต้องพูดคุยกับกัมพูชา ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ รวมถึงการที่กัมพูชาต้องไม่ส่งทหารเข้าไปในรูปแบบใดทั้งสิ้น สำหรับกรณีชุมชนนั้นต้องตรวจสอบเช่นกันว่าเป็นพลเรือนจริงหรือไม่ หรือเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับทางทหาร
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในแง่ข้อกฎหมาย ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาผลกระทบของมาตรการชั่วคราวของศาลโลก
และการที่ไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ(ยูเอ็น) กับการที่เราต้องปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมายและรัฐธรรมนูญของไทย แต่โดยภาพรวมการแก้ปัญหาบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา มีความชัดเจนว่าถ้าจะถอนทหารจะเกี่ยวข้องกับทั้ง 2 ฝ่าย และคนจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือไทยและกัมพูชาต้องพูดคุยกัน ซึ่งในเบื้องต้น ตนได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมไปกำหนดแนวทางการพูดคุยกับกัมพูชา ทั้งนี้ ถ้าฝ่ายกฎหมายเห็นว่าต้องดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรี(ครม.)หรือรัฐสภา รัฐบาลไทยต้องปฏิบัติตามนั้น แต่ต้องเกิดขึ้นเมื่อมีครม.ชุดใหม่ เพราะครม.ชุดปัจจุบันไม่สามารถกำหนดแนวทางใดที่กระทบหรือผูกมัด ครม.ชุดใหม่ได้ ทั้งนี้ การปฏิบัติใดๆนั้นต้องเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศด้วย นอกจากนี้ ตนขอยืนยันว่าคำสั่งทั้งหมดไม่มีผลต่อเรื่องของเขตแดนหรืออธิปไตย เพราะศาลโลกได้สั่งให้กัมพูชาถอนทหารออกจากพื้นที่ที่อยู่อีกด้านของสันปันน้ำในพื้นที่มากกว่าของฝ่ายไทย และตนเชื่อว่ารัฐบาลชุดต่อไปต้องทำทุกอย่างในการปกป้องอธิปไตยในดินแดนของไทยตามที่ไทยยึดถือ
เมื่อถามว่าถือว่าไทยยอมรับคำสั่งคุ้มครองของศาลโลกอย่างเป็นทางการใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า
ในชั้นนี้รัฐบาลจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาข้อกฎหมาย เพื่อที่จะได้นำไปหารือกับทางกัมพูชา เพราะก่อนหน้านี้ไทยเคยเสนอเรื่องของการถอนทหารอยู่แล้ว เมื่อถามว่ารัฐบาลกัมพูชาออกแถลงการณ์ว่าพร้อมทำตามมติของศาลโลก นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นแถลงการณ์ เห็นแต่คำให้สัมภาษณ์ของนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศของกัมพูชา ที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตาม เพราะถ้ากัมพูชายอมรับก็ต้องถอนทหารและประชาชน 4 พันกว่าคนออกไปทันที
ต่อข้อถามว่าจะไปพูดคุยกันในเวทีไหน บนเวทีการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป(จีบีซี)ไทย-กัมพูชา หรือไม่
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กำลังให้ดูว่าควรจะเป็นชุดใด แต่เบื้องต้นตนเห็นว่ากลไกจีบีซีน่าจะเหมาะสม แต่ฝ่ายกฎหมายต้องไปดูว่าเข้ารัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายก็ต้องไปขอกรอบการเจรจาจากรัฐสภา เมื่อถามว่าระหว่างที่ถอนทหาร มีสัญญาณว่าจะเกิดเหตุปะทะหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีการติดตามอยู่ตลอด แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดอะไร ยืนยันว่าระมัดระวังไม่ประมาท ส่วนคดีหลักนั้นเป็นเรื่องที่กัมพูชาขอให้ศาลโลกตีความว่าที่ตัดสินไปเมื่อปี 2505 ว่าคำว่า“บริเวณใกล้เคียงปราสาท” คืออะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องนำเอกสารหลักฐานในมุมมองของตัวเองไปเสนอ ซึ่งการต่อสู้ในคดีหลักนั้น คาดว่าภายใน 2-3 เดือนข้างหน้า จะเป็นช่วงเวลาที่ศาลโลกขอให้คู่ความส่งหลักฐานเข้าไป ทั้งนี้ องค์คณะผู้พิพากษาศาลโลกจะเปลี่ยนในเดือน ก.พ.2555 จึงมองได้ว่าจะทำให้คดีนี้เสร็จก่อนการเปลี่ยนองค์คณะ หรือจะรอให้เปลี่ยนองค์คณะก่อนจึงพิจารณาใหม่