เมื่อเวลา 17.15 น. วันที่ 14 กรกฎาคม ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
แถลงกรณีศาลเยอรมนีสั่งอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737 ของไทยที่นครมิวนิก เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม ว่า มีข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท วอลเตอร์ บาว ของเยอรมนี เกี่ยวกับสัมปทานการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อปี 2543 ซึ่งทางวอลเตอร์ บาว ได้มอบหมายให้ทนายชื่อแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เป็นผู้จำหน่ายทรัพย์สิน ทางรัฐบาลไทยได้ดำเนินการทางด้านกระบวนการยุติธรรมเริ่มตั้งแต่การไต่สวนที่ฮ่องกง จนไปจบที่คณะอนุญาโตตุลาการที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นไปภายใต้อนุสัญญานิวยอร์กว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ชี้ขาดให้ราชอาณาจักรไทยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินเกือบ 30 ล้านยูโร (ราว 1,200 ล้านบาท) บวกดอกเบี้ย 6 เดือนในอัตราร้อยละ 2 ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2549 รวมถึงค่าใช้จ่ายในกระบวนการอนุญาโตตุลาการของบริษัท วอลเตอร์ บาว อีกเกือบ 2 ล้านยูโร (ราว 80 ล้านบาท) โดยให้เหตุผลว่าเพราะรัฐบาลไทยผิดพันธกรณี
นายกษิตกล่าวว่า จากนั้นวันที่ 26 มีนาคม 2553 บริษัทเริ่มดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามคำพิพากษาของคณะอนุญาโตตุลาการที่นครนิวยอร์ก ฝ่ายไทยยื่นอุทธรณ์ โดยหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือสำนักงานอัยการสูงสุด ส่วนเจ้าของคดีฝ่ายไทยคือกระทรวงคมนาคม เมื่อมีผลออกมาแล้วเจ้าทุกข์สามารถบังคับใช้ให้รัฐบาลไทยชดใช้ที่ประเทศไหนก็ได้ที่เป็นสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์ก
"ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือนายชไนเดอร์ฟ้องร้องกับศาลยุติธรรมเยอรมนี ได้ตัดสินเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ให้ไปยึดเครื่องบินของไทยที่จอดอยู่ที่นครมิวนิก รัฐบาลทราบเรื่องเช้าวันที่ 13 กรกฎาคม และได้เร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วนด้วยความกังวล ในแง่เนื้อหาคือเจ้าทุกข์สามารถดำเนินการกับทรัพย์สินของรัฐบาลไทยได้ แต่เครื่องบินลำนี้ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สินของรัฐบาลไทย ฉะนั้น ในแง่กฎหมายเป็นการอายัดทรัพย์สินส่วนบุคคลซึ่งศาลไม่มีสิทธิทำเช่นนั้น ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวง" นายกษิตกล่าว