ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ "ดา ตอร์ปิโด" หมิ่นฯ คมช. 50,000 บาท
วันที่ 8 ก.ค. 54 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ปรับ "ดา ตอร์ปิโด" 50,000 บาท ฐานปราศรัยหมิ่น "คมช." หน้ากระทรวงศึกษาฯ ปี 50 ที่ห้องพิจารณา 908 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่ หมายเลขดำที่ อ. 4767/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ "ดา ตอร์ปิโด" แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาด้วยการกระจายเสียง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 จากกรณีเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 50 เวลากลางคืน จำเลยได้ปราศรัยบนเวทีหน้ากระทรวงศึกษาธิการ บริเวณแยกมิสกวัน กล่าวโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และผู้ช่วยเลขาธิการ (คมช.) ผู้เสียหาย เกี่ยวกับการรัฐประหารที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำนองว่าเอาทหารมาปกครองประเทศ ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่ง คมช.ได้มอบอำนาจให้นายทหารพระธรรมนูญแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ดุสิต เมื่อเดือน มิ.ย. 2550
แต่เนื่องจากจำเลยนำสืบว่าเคยเป็นสื่อมวลชนและจบการศึกษารัฐศาสตร์ เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยที่จะต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดพาดพิงถึงบุคคลอื่น เห็นสมควรลงโทษสถานเบา เพื่อให้เป็นการหลาบจำ จึงให้ปรับเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีที่หมิ่นประมาทนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในคดีหมายเลขดำ อ. 3634/2551 นั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาสั่งปรับเท่านั้น ไม่มีโทษจำคุกจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ อ้างว่าผู้เสียหายไม่มาเบิกความด้วยตนเองยืนยันเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจ การมอบอำนาจจึงไม่สมบูรณ์ อัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง และอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว เห็นว่า คมช. ผู้เสียหาย
ได้มอบอำนาจในการร้องทุกข์ โดยมีหนังสือมอบอำนาจก็ไม่จำเป็นต้องเบิกความด้วยตนเอง ส่วนที่จำเลยขอให้ลงโทษสถานเบา เห็นว่า คดีนี้โจทก์มีนายทหารซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ ระบุว่าได้ยินจำเลยใช้วาจาด้วยถ้อยคำหยาบคายกล่าวหาผู้เสียหาย ประกอบกับยังมีนายทหารที่ตรวจแผ่นบันทึกเสียง ระบุว่าได้ถอดเทปคำพูดที่จำเลยขึ้นปราศรัย หน้ากระทรวงศึกษาเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2550 ด้วย ศาลเห็นว่าพยานโจทก์เบิกความตามการปฏิบัติหน้าที่ และไม่มีเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เชื่อว่าไม่ได้เบิกความผิดไปความเป็นจริง จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ซึ่งโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นเหมาะสมกับพฤติการณ์ที่จำเลยใช้ถ้อยคำหยาบคาย รุนแรงกล่าวพาดพิงผู้เสียหาย และบุคคลอื่นอีกหลายคนแล้ว จึงพิพากษายืน