กระตุ้นทุกฝ่ายร่วมมือลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมดันประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (7 ก.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในการประชุมประจำปี 54 เรื่องแผนฯ 11 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ปัญหาด้านการเมือง ถือเป็น 1 ใน 5 ของความท้าทายที่สำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า ในช่วงที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 มีผลบังคับใช้ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการสร้างโอกาสและกระบวนการพัฒนาประเทศในระยะกลางและระยะยาว 5 ปีที่ผ่านมาก่อนช่วงแผนฯ 10 ประเทศต้องเผชิญปัญหาการเมืองอย่างรุนแรงโดยตลอด แม้ว่าพื้นฐานโครงสร้างเศรษฐกิจจะแข็งแรงและสามารถบริหารจัดการให้ผ่านพ้นมาได้ก็ตาม ในอีก 5 ปีข้างหน้าหากปัญหาการเมืองเป็นเหมือนที่ผ่านมาจะทำให้การพัฒนาประเทศไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนฯ 11 ขณะนี้การเมืองไทยเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาแล้ว ดังนั้นทุกฝ่ายต้องทำทุกทางเพื่อลดความแตกแยกทางสังคม ผ่านกระบวนการการเมืองที่สร้างสรรค์ผลักดันให้ได้ตามแผนฯ 11 และตามนโยบายรัฐบาลที่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนให้ประชาชนคนไทยมีความสุขและเกิดกระบวนการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจจากประเทศตะวันตกมาสู่ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่น
บราซิล อินเดีย รัสเซีย จีน แอฟริกาใต้ ประเทศในกลุ่มเอเชียแปซิฟิก และกลุ่มอาเซียน ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อนและภัยพิบัติที่กระทบโดยตรงในระยะกลางและระยะยาว มีผลต่อขีดความสามารถทางการผลิตโดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านอาหารและพลังงาน ที่สำคัญสังคมไทยยังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องมีรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นนำมารองรับค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดขึ้น และความท้าทายสุดท้ายคือ การบริหารจัดการ เพื่อจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะการถือครองทรัพย์สินและที่ดินที่จะ รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ขอฝากขอคิดสำคัญใน 2 เรื่องในแผนฯ ฉบับที่ 11
เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ไปไม่สามารถใช้เพียงแค่หลักคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีนำไปดูแลคนยากจนและคนด้อยโอกาส หรือหวังแต่ให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่จำเป็นอย่างยิ่งต้องปฏิรูปในเชิงโครงสร้างสู่การมีสังคมที่เท่าเทียมกัน ทั้งเรื่องคุณภาพของคนเริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว ระบบการศึกษารวมถึงการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเพื่อพัฒนาทักษะของคนให้ตรงกับความต้องการ จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่