เลิกมั่วเสียที ! มีชัย ฤชุพันธุ์ ฟันธงหลักการชัดๆ ว่าด้วย โหวต โน หลังเลือกตั้งผ่านพ้น 1 วัน


         ก่อนการเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม  2554  นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มือกฎหมายใหญ่ อดีตประธานวุฒิสภา หลีกเลี่ยงที่จะให้ความเห็นเรื่อง "โหวต โน" ที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหว รณรงค์ ทั่วประเทศ    โดยนายมีชัย อ้างว่า เป็นหน้าที่ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ที่จะชี้แจงว่า การไม่ประสงค์ลงคะแนนตามมาตรา 88  มาตรา 89  มีความหมายอย่างไร

จากการแถลงของ กกต. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม  ปรากฏว่า การลงคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน(โหวต โน)  เพียง 958,052  บัตร เท่านั้น คิดเป็น 2.72 %  และในการลงคะแนนเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,419,088 บัตร หรือคิดเป็น 4.03 % 

ล่าสุด ในเว๊บไซต์ www.meechaithailand.com  มีผู้ถามนายมีชัยเรื่อง มาตรา 89   โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบ ดังนี้

" ในที่สุดผลการเลือกตั้งก็ออกมาแล้วนะครับอาจารย์
คำถามนี้อาจจะไม่มีผลประโยชน์ต่อส่วนรวมอีกต่อไปแล้ว
แต่ถือว่าเป็นการให้ความรู้ผมแล้วกัน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องค้างคาใจอะไรต่อไป

ผมขอสมมติเหตุการณ์
มีคนอยู่7คน แล้วมีคนในกลุ่มชักชวนให้ไปเที่ยวโดยมีสถานที่ให้เลือก 3ที่
ขั้นต้นทั้งกลุ่มมา vote ว่าจะไปหรือไม่ไป
ปรากฎว่าเลือกไป4คนไม่ไป3คนทั้งกลุ่มจึงตกลงกันว่าจะไปเที่ยว
ต่อมากลุ่มที่เลือกจะไป4คนมาลงความเห็นว่าจะไปที่ไหนดีใน3ที่
ผลปรากฎว่าเสียงแยกเป็นสามส่วน คือภูเก็ต2คะแนน สมุย1คะแนน พัทยา1คะแนน
นั่นคือทั้งกลุ่มต้องไปเที่ยวภูเก็ตที่ได้2คะแนน
แต่ภายหลังกลุ่มคนที่ออกเสียงว่าไม่ไปที่มี3คนบอกว่าเสียงไม่ไปมากกว่าเสียงภูเก็ตที่ได้2คะแนน
 แล้วสรุปเอาว่าทั้งกลุ่มจะต้องนอนอยู่บ้าน

มาตรา89 กล่าวไว้แบบนี้หรือครับ??
แบบนี้มันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยหรือครับ??


นายมีชัย  ตอบว่า  สมมติฐานของคุณผิดในขั้นที่ 2   กล่าวในขั้นแรกเมื่อลงคะแนนว่าจะไปเที่ยวหรือไม่ 4  เสียงว่าควรไป อีก 3  เสียงว่าไม่ควรไป  การไปเที่ยวจึงเป็นเสียงข้างมาก ตกลงทุกคนก็ควรต้องไปเที่ยว เมื่อจะตกลงกันว่าจะไปเที่ยวไหน คนทั้ง 7  ก็ต้องมาลงคะแนนกันใหม่ (รวมทั้ง 3  คนที่เคยลงคะแนนว่าไม่ไปเที่ยวด้วย เพราะตามหลักประชาธิปไตยนั้น คนเสียงข้างน้อยต้องยอมรับผลของเสียงข้างมาก)

 แต่ถ้าในการลงคะแนนครั้งที่ 2  ว่าจะไปเที่ยวที่ไหน คนที่ลงคะแนน ไปภูเก็ต มี 2  เสียง คนที่ลงคะแนนไปสมุยกับพัทยา มีแห่งละ 1  เสียง ส่วนอีก 3  เสียงไม่ลงคะแนน ก็ต้องถือว่าคนทั้ง 3  คนนั้นไม่ติดใจ เท่ากับว่ายอมปล่อยให้ชะตาชีวิตขึ้นอยู่กับคน 4  คน  เมื่อเสียง 2  เสียงให้ไปภูเก็ต เป็นเสียงข้างมาก คนที่ลงคะแนนไปสมุยกับพัทยา ก็ต้องยอมไปภูเก็ต ส่วนอีก 3  คนที่ไม่ลงคะแนนนั้น เมื่อยอมรับชะตาที่เพื่อนจะลงคะแนนกันแล้ว ก็ต้องไปตามเขา เพราะถือว่าเสียงข้างมากเขาตกลงเช่นนั้นแล้ว

  

สำหรับคำถามนั้น ถ้ามาตรา 89  ที่คุณว่ามาหมายถึง ม. 89  ของกฎหมายเลือกตั้ง ก็เป็นคนละเรื่องกับที่คุณว่ามา เพราะ ม. 89  เพียงแต่บอกว่าในการเลือกตั้งนั้น ใครได้คะแนนสูงสุดคนนั้นได้รับเลือก ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้จับสลาก   คนที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดอาจจะไม่ใช่คนที่ได้คะแนนเสียงข้างมากของผู้มาลงคะแนนก็ได้

  

 เช่น มีผู้สมัคร 5  คน มีคนมาลงคะแนน  60  คน คนที่ 1  ได้  20  คะแนน คนที่ 2  ถึงที่ 5  ได้คนละ 10  คะแนน คนที่ 1  จะได้รับเลือก ทั้ง ๆ ที่ คนอีก  40 คนซึ่งเป็นเสียงข้างมาก ไม่ได้เลือกคนที่ 1  เลย แต่เมื่อกฎเกณฑ์ว่าไว้อย่างนี้ก็ต้องเป็นไปตามนี้  

บางประเทศเขาถึงมีกฎเกณฑ์พิเศษว่า ถ้าในรอบแรกไม่มีใครได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ ก็จะต้องเลือกใหม่อีกรอบหนึ่ง โดยให้คนที่ได้คะแนนที่ 1 กับที่ 2  มารับเลือกใหม่ เฉพาะ  2  คน

มีชัย ฤชุพันธุ์
4 กรกฎาคม 2554 


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์