คิดแบบ ทักษิณ ใครจะเป็น ประธานรัฐสภา-รองนายกฯคนที่1 และ รมต.กลาโหม

ถ้าย้อนเวลากลับไปเมื่อวันที่พรรคเพื่อไทยเลือกตั้ง ”ส.ส.บัญชีรายชื่อ” หมายเลข 1  ซึ่งหมายถึงคนที่จะดำรงตำแหน่ง ”นายกรัฐมนตรี” หาก ”เพื่อไทย” ชนะเลือกตั้ง
 

หลายคนไม่คิดว่า ”ทักษิณ” จะเลือก ”ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร” เป็น ”ปาร์ตี้ลิสต์” หมายเลข 1
 

เพราะเสียงคัดค้านมากมายจากหลายฝ่าย
  

แต่สุดท้ายก็จบลงที่ชื่อ ”ยิ่งลักษณ์”
 

สำหรับคนที่รู้จัก ”ทักษิณ” และรู้วิธีคิดของเขาจะไม่แปลกใจต่อการตัดสินใจครั้งนี้เลย
 

เพราะนี่คือหนึ่งใน ”บทเรียน” ที่ ”ทักษิณ” สรุปแล้ว
 

เป็นบทเรียนจากกรณีเลือก ”สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี
 

“สมัคร” เป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง 
 

และความผูกพันกับ ”ทักษิณ” ก็ไม่ถึงขั้นที่ต้องยอมทุกอย่าง
 

หลังเป็นนายกรัฐมนตรี เรื่องที่เคยคุยได้ก็เริ่มคุยไม่รู้เรื่อง
 

และเมื่อถึงเวลา ”ทีเด็ดทีขาด” คนอย่าง ”สมัคร” ก็เลือกที่จะรักษาอำนาจของตนเองมากกว่าการสู้เพื่อ ”ทักษิณ”
 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 แทนที่จะทำทันทีหลังการเลือกตั้งก็ถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงปลายรัฐบาล
 

บทเรียนนี้เองที่ทำให้ ”ทักษิณ” ให้น้ำหนักกับเรื่อง ”ความไว้วางใจ” มากที่สุด
 

โดยเฉพาะในตำแหน่งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
 

นับจาก ”สมัคร” เป็นต้นมา  ตัวเลือกอันดับแรกของเขาในตำแหน่ง ”นายกรัฐมนตรี” จึงเป็นคนในครอบครัว ”ชินวัตร”
 


จาก ”สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ถึง ”ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร”
  

น้องสาวที่เขารักและไว้ใจที่สุด
……………….
 

และวิธีคิดเช่นนี้ “ทักษิณ” น่าจะนำไปใช้กับ 3 ตำแหน่งสำคัญที่มีผลต่อการที่ทำให้เขาหมดอำนาจ
 

“ประธานรัฐสภา-รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1” และ ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”
 

2 ตำแหน่งแรกเป็นบทเรียนจากกรณี ”เนวิน ชิดชอบ” หักด่านไปร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ หลังตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน
 

ครั้งนั้น “ชัย ชิดชอบ” เป็นประธานรัฐสภา  มีอำนาจกำหนดเกมในสภาและทำหน้าที่นำชื่อ ”นายกรัฐมนตรี” คนใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ
 

และ ”ชวรัตน์ ชาญวีรกุล” เป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1
 

แต่ทั้ง 2 คนไม่ใช่คนของ ”ทักษิณ”
 

ทั้งคู่อยู่ในกลุ่ม ”เนวิน”
 

ดังนั้น เมื่อ ”เนวิน” ตัดสินใจแยกทางจาก ”ทักษิณ” พร้อมวาทะประวัติศาสตร์
 

“มันจบแล้วครับนาย”

“ทักษิณ” จึงได้บทเรียนบทใหม่ที่จำไม่ลืม

ครั้งนั้น  “ทักษิณ” จะแก้เกมด้วยการให้ ”ชวรัตน์” ยุบสภาฯ เมื่อรู้ว่า ”เนวิน”กำลังพลิกขั้ว
  

แต่ ”อนุทิน ชาญวีรกุล” กลับไปจับมือกับ ”เนวิน” 
 

“ชวรัตน์” จึงไม่ยอมยุบสภาฯ
 

จากนั้น ”ชัย ชิดชอบ” ก็เดินเกมในสภาฯอย่างรวดเร็ว เพื่อผลักดันให้ ”อภิสิทธิ์” เป็นนายกรัฐมนตรี
 

บทเรียนครั้งนั้นจึงทำให้ ”ทักษิณ” ให้ความสำคัญกับตำแหน่ง ”ประธานรัฐสภา” และ ”รองนายกรัฐมนตรี” คนที่ 1 เป็นอย่างยิ่ง
 

เช่นเดียวกับตำแหน่ง ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” ซึ่งเป็นตำแหน่งการเมืองที่ดูแลกองทัพ
 

“ทักษิณ” ได้บทเรียนจากเมื่อครั้งที่ตั้ง ”พล.อ.ธรรมรักษ์  อิศรางกูร ณ.อยุธยา” ที่เป็น ”ลูกป๋า” ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
 

เพราะในวันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อมีกระแสการรัฐประหารกระหึ่มขึ้น  แทนที่พล.อ.ธรรมรักษ์จะออกมาปักหลักสู้
   

“พล.อ.ธรรมรักษ์” กลับเก็บตัวเงียบอยู่ใน ”เซฟเฮ้าส์”
 

ไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารเลย
 

หลังเหตุการณ์จึงมีข่าวทางลึกออกมาว่าพล.อ.ธรรมรักษ์  เคยกระซิบบอกกับรัฐมนตรีที่ใกล้ชิดว่า ”มือที่มองไม่เห็น” ส่งสัญญาณมาล่วงหน้าแล้วว่าหากเกิดอะไรขึ้น ให้อยู่เฉยๆ
 

และนั่นคือ เหตุผลที่พล.อ.ธรรมรักษ์ ซุ่มเงียบอยู่ในถ้ำ
 

บทเรียนครั้งนั้น ทำให้ ”ทักษิณ” ให้ความสำคัญกับตำแหน่ง ”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม” เป็นพิเศษ 
  

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้องเป็นคนที่ ”ทักษิณ” มั่นใจว่าจะเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขาในทุกสถานการณ์
 

ดังนั้น  ชื่อที่มีการปล่อยออกมาในวันนี้ทั้งในตำแหน่งประธานรัฐสภา รองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
 

คนที่จะเข้าป้ายใน 3 ตำแหน่งนี้ต้องมีคุณสมบัติหนึ่งที่สำคัญยิ่ง

“ทักษิณ”ไว้ใจหรือไม่
 

หากปราศจากคุณสมบัติข้อนี้
 

ตัดทิ้งได้เลย...


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์