คตส.ลงดาบฟันอาญา แม้ว โกงซื้อที่ดินรัชดา พร้อม สุริยะ ซีทีเอ็กซ์

คตส.ลงดาบฟันอาญา แม้ว โกงซื้อที่ดินรัชดา พร้อม สุริยะ ซีทีเอ็กซ์

สัก กอแสงเรือง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 25 ธันวาคม 2549 20:02 น.

คตส.ชี้มูล ที่ดินหญิงอ้อ ฟันทักษิณ ผิด กม.ป.ป.ช.มาตรา 100 ชี้ หญิงอ้อ ไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นผู้สนับสนุน แม้ว โกง พร้อมฟัน 22 เหลือบซีทีเอ็กซ์ แม้ว-สุริยะ ผิดอาญา 157-83 จี้ คลัง-ธปท.-กองทุนฟื้นฟู-บทม.-คมนาคม ร้องทุกข์กล่าวโทษ ขู่ โอ๊ค-เอม ไม่มาเจอดีแน่

ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่า เมื่อเวลา 13.30 น.คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้ร่วมประชุมเพื่อรับฟังรายงานความคืบหน้าในโครงการที่ตรวจสอบพฤติกรรมที่ส่อในทางทุจริต และพิจารณาผลการสรุปสำนวนของอนุกรรมการตรวจสอบที่ชี้มูลความผิด เพื่อขอตั้งอนุกรรมการไต่สวน

หลังการประชุมนานกว่า 5 ชั่วโมง

นายสัก กอแสงเรือง กรรมการ คตส.ในฐานะโฆษก คตส. แถลงผลการประชุม ว่า ที่ประชุมรับทราบผลการสรุปการดำเนินงานชุดอนุกรรมการตรวจสอบโครงการการซื้อที่ดินย่านรัชดา ของคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากกองทุนฟื้นฟูฯ ที่มีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส.รับผิดชอบ

ที่ประชุม คตส.มีข้อสรุปว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่กำกับดูแล สอดส่อง และควบคุมตรวจสอบหน่วยงานของรัฐ ต้องห้ามให้เป็นคู่สัญญา หรือทำสัญญากับหน่วยของรัฐ ซึ่งกรณีนี้คุณหญิงพจมาน ในฐานะคู่สมรส จึงต้องห้ามคู่สมรสตามมาตรา 100 (1) (3) ของกฎหมาย ป.ป.ช.อนุฯตรวจสอบ จึงสรุปความเห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำความผิดตามมาตรา 100(1) มีโทษตามมาตรา 122 ของกฎหมาย ป.ป.ช.

สำหรับในส่วนของ คุณหญิงพจมาน ก็ต้องห้ามไม่ให้มาเกี่ยวข้องเป็นคู่สัญญา การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และทุจริต เนื่องจาก คุณหญิงพจมาน ได้ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่ใช่ตัวการ แต่เป็นเพียงผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ในการกระทำความผิดในมาตราดังกล่าว

นายสัก กล่าวต่อว่า ดังนั้น ในการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในโครงการนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการได้

เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งตามมาตรา 66และ 67 ของกฎหมาย ป.ป.ช.จะต้องมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อ คตส.ก่อน ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติประสานไปยังกระทรวงการคลัง กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คตส.ในฐานะผู้เสียหาย คตส.จึงจะตั้งอนุกรรมการไต่สวนได้

นายสัก กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายอำนวย ธันธรา กรรมการ คตส.เป็นประธานอนุกรรมการจัดซื้อจัดจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียงกระเป๋า และสัมภาระผู้โดยสารและเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังได้รายงานสรุปผลการตรวจสอบ โดยที่ประชุมมีมติชี้มูลความผิดการทุจริตประพฤติมิชอบในการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการดังกล่าว โดยแยกสัญญาออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย

1.สัญญาจัดซื้อจัดออกแบบและปรับเปลี่ยนระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าและสัมภาระผู้โดยสาร

และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดระหว่างบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (มหาชน) และกิจการร่วมค้าไอทีโอ โดยพบว่า

1.1 มติคณะกรรมการ บทม.ส่อพิรุธเปิดช่องให้มีการทุจริต มีการกลับมติไปมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้มีการทุจริต

1.2 การจ้างวิศวกรอิสระตรวจรับรองแบบ โดยทาง บทม.ว่าจ้างบริษัท เอเอสไอ เป็นที่ปรึกษา และดูแลระบบความปลอดภัยทั้งหมด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ แต่ บทม.กลับไปว่าจ้างบริษัท ควอโตเทค ขึ้นมาตรวจรับรองแบบ ทั้งที่บริษัทนี้เพิ่งตั้งขึ้นมาและไม่มีประสบการณ์ โดย นายบิลลี่ เฮล วิสเซนท์ ประธานบริหารบริษัท เอเอสไอ ระบุว่า ไม่เคยได้ยินชื่อบริษัทดังกล่าวมาก่อน อีกทั้งบริษัท ควอโตเทค ใช้เวลาพิจารณาแบบระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า และสัมภาระที่มีความสลับซับซ้อนมีมูลค่าหลายพันล้านบาท เพียง 1 วันเท่านั้น

1.3 การคิดส่วนต่างราคาสายพานลำเลียงกระเป๋า และสัมภาระ พบว่า จัดซื้อจัดจ้างสูงผิดปกติกว่า 902 ล้านบาท

1.4 การคิดส่วนต่างราคาเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 26 เครื่อง และเครื่องมัลติเพล็กซิ่ง จำนวน 4 ชุด สูงกว่าความเป็นจริง 310 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการคิดราคาซอฟต์แวร์ที่ติดมากับเครื่องเพิ่มเติมด้วย ทั้งที่ไม่ควรคิดเพิ่มเติม ซึ่งมีราคาสูงกว่าความเป็นจริงไม่น้อยกว่า 665 ล้านบาท

1.5 การซื้อเครื่องตรวจละอองวัตถุระเบิดสูงเกินความจำเป็น

1.6 ความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้มีอำนาจตัดสินใจมุ่งแต่จะเลือกเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 โดยไม่คำนึงถึงความมั่นคงปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเรื่องนี้ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากจะเป็นการชี้ช่องให้คนร้าย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน พึงใช้ความระวังเป็นอย่างยิ่ง

นายสัก กล่าวต่อว่า สัญญาที่ 2 คือ การทำสัญญาจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000

จากบริษัท จีอี อินวิชั่น โดยตรง โดยพบว่า 1.เป็นการกระทำนิติกรรมอำพราง และ 2.มีการทำสัญญาซื้อในราคาสูงเกินความเป็นจริง โดยน่าเชื่อว่ามีการวางแผนทำสัญญาเพื่อปกปิดราคาอันแท้จริง ทำให้ยากต่อการตรวจสอบราคาเครื่อง

คตส.จึงมีมติชี้มูลความผิดบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่อันมีมูลความผิดทางอาญา โดยแยกเป็นรายสัญญา ซึ่งสัญญาแรก มีผู้ถูกชี้มูล คือ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กับพวกรวม 11 คน และสัญญาที่ 2 มีผู้ถูกชี้มูล คือ พ.ต.ท.ทักษิณ นายสุริยะ และพวกรวม 16 คน รวมสองสัญญามีผู้ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา 22 คน มี 4 คนที่ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา 2 กระทงโดยทั้งหมดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และมาตรา 83 แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ และนายสุริยะ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คตส.จึงมีมติประสานไปยัง บทม.และกระทรวงคมนาคม ให้มาร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับบุคคลดังกล่าวตามมาตรา 66 และ 67 ของกฎหมาย ป.ป.ช. คตส.จึงจะสามารถตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน และแจ้งข้อกล่าวหาได้ โดยคาดว่าจะมีความคืบหน้าในต้นปี 2550 โฆษก คตส.กล่าว

นายสัก กล่าวอีกว่า ที่ประชุมไม่ได้กำหนดเวลาในการประสานกับหน่วยงานที่ต้องมาร้องทุกข์กล่าวโทษ

และยังไม่ได้คิดว่าหากหน่วยงานดังกล่าวยังนิ่งเฉยแล้วจะดำเนินการอย่างไร

นายสัก กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบตามที่อนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จากบริษัท แอมเพิลริช ที่เสนอให้มีหนังสือเชิญนายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา ชินวัตร พร้อมด้วยนางกาญจนาภา หงส์เหิน มาให้ข้อมูลในวันที่ 27 ธ.ค.นี้ ซึ่งถ้าไม่มาชี้แจง คตส.จะส่งหนังสือเตือนไปอีกครั้ง โดยหนังสือทุกฉบับได้มีการแจ้งถึงโทษที่ไม่มาชี้แจงกับ คตส.ประกอบไปด้วย และถ้ายังไม่มาชี้แจงอีก ก็จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์