นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนนตรีและรองเลขาธิการนายกฯ กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยประกาศถอนตัวจากภาคีมรดกโลกว่า
ตอนนี้ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าไทยจะถอนตัวจากสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น ขั้นตอนต่อไปต้องทำเป็นหนังสือแจ้งการถอนตัวอย่างเป็นทางการจาก รมว.ต่างประเทศของไทยไปยัง ผอ.ยูเนสโกและทางยูเนสโกตอบกลับมาอย่างเป็นทางการจึงจะมีผล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้เวลาเป็นเดือน แต่ในช่วงที่ยังไม่ถอนตัวเป็นทางการ ยูเนสโกกับไทยยังสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้และยังถือว่าไทยยังเป็นภาคีอยู่ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 35 ของอนุสัญญามรดกโลก
" ที่เราต้องถอนตัวจากเป็นภาคีมรดกโลกเนื่องจากมีความสุ่มเสี่ยงในเรื่องอำนาจอธิปไตยและดินแดนของไทย เพราะถ้ายังมีการเดินหน้าต่อ เราก็ไม่รู้ว่าทางกัมพูชาจะสอดแทรกแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารอย่างไรบ้างจึงต้องถอนตัวออกมา ซึ่งเท่ากับว่าเราไม่ได้รับรองการดำเนินการใดๆของกัมพูชาเพราะถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลกแล้ว อย่างไรก็ตามการที่เราถอนตัวจากสมาชิกยูเนสโก ไม่มีผลกระทบต่อการดูแลหรือบูรณะโบราณสถานของไทย เพราะปกติเราก็ใช้เงินของเราเองในการดูแลโบราณสถานของเราอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับกัมพูชาที่นำโบราณสถานของเขาไปขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกแล้วนำเอาเงินของยูเนสโกมาซ่อมแซมโบราณสถานของกัมพูชา อีกทั้งหากโบราณสถานของไทยมีความโดดเด่นจริง ก็ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นมรดกโลกอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องไปขึ้นทะเบียนกับยูเนสโกก็ได้ ส่วนโบราณสถานที่เราขึ้นทะเบียนมรดกโลกกับยูเนสโกไปแล้วก็ไม่กระทบ" นายปณิธาน กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่า การที่ประเทศไทยถอนตัวจากการเป็นสมาชิกคณะกรรมการมรดกโลก
ทำให้ไม่สามารถนำโบราณสถานของไทยไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโกได้ แต่ประเทศที่เป็นสมาชิกคณะกรรมการโลกก็ไม่สามารถนำโบราณสถานหรือพื้นที่ที่คาบเกี่ยวว่าเป็นของไทยหรือไม่ ไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวได้ทั้งนี้เป็นไปตามกฎของยูเนสโกว่าต้องได้รับความยินยอมจากทั้งสองฝ่าย