เวลา 19.00 น. วันที่ 16 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ได้บันทึกลงในเฟซบุ๊ก "จากใจอภิสิทธิ์ถึงคนไทยทั้งประเทศ 4 ตอน 91 ศพสังเวยความต้องการใคร (ภาค 2)" มีเนื้อหาระบุว่า หลังจากสังคมได้รับรู้เรื่องเหตุการณ์ 10 เม.ย. 53 และปรากฏการณ์ชายชุดดำ ปัญหาการชุมนุมก็ยังไม่ยุติ ตรงกันข้ามมีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่องกับประชาชนผู้บริสุทธิ์
ตนแบกรับอย่างต่อเนื่อง แต่อดทนเพื่อหาแนวทางสันติ จนต้นเดือนพ.ค. จึงเสนอแผนปรองดองที่พูดถึงการแก้ปัญหาในประเด็นที่เกี่ยวกับการเรียกร้องของผู้ชุมนุมในทุกเรื่อง โดยเฉพาะหากยกเลิกการชุมนุมก็จะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ย. ทั้งที่ตนถูกก่นด่าว่าอย่างรุนแรงจากคนที่สนับสนุน
"สิ่งที่ผมสังหรณ์ใจไม่ผิดก็คือ แผนปรองดองทั้งหมดมีจุดอ่อนจุดเดียว คือไม่มีการนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณ (ชินวัตร) แม้แกนนำหลายคนก็เริ่มอยากให้แผนนี้เป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย การเจรจาคืบหน้าจนถึงจุดว่าจะช่วยกันดูแลให้คนเสื้อแดงที่มาชุมนุมกลับบ้านได้อย่างไร เช่น ประสานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่สุดท้าย การเจรจาล้มเหลว เพราะไม่ได้รับไฟเขียวจากนายใหญ่ ฝ่ายเจรจาของผู้ชุมนุม ที่แปลกใจหรือผิดหวังตั้งแต่ 10 เม.ย.ว่ามีคนตายแล้วแต่รัฐบาลยังอยู่ได้ มองว่าหากไม่มีการนิรโทษกรรม คุณทักษิณก็ไม่ได้ประโยชน์ จึงไม่ต้องการให้คลี่คลายเพราะไม่ได้รับชัยชนะ แม้แต่ก่อนสลาย เราพยายามจะเจรจาให้ส่งผู้ชุมนุมกลับบ้านก่อนมอบตัว แต่ถูกปฏิเสธ" นายอภิสิทธิ์ ระบุ
ในที่สุด เวลาผ่านไป 10 วันก็ชัดเจนว่าจะไม่มีการเลิกการชุมนุม ศอฉ.จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องรักษากฎหมายโดยการกระชับพื้นที่
ไม่ได้เข้าไปสลายการชุมนุม ความสูญเสียระหว่างวันที่ 14-18 พ.ค. ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่มีใครสั่งฆ่าประชาชน แต่มีกลุ่มคนติดอาวุธโจมตีด่าน ทำให้เกิดการปะทะกัน โดยศอฉ.ได้เตือนประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มอาสาสมัครและสื่อให้ระวังตัวว่าจะเป็นเป้าของการยั่วยุให้ปะทะ และชายชุดดำซึ่งอยู่ที่ตึกชีวาทัย (ถ.ราชปรารภ) และบริเวณใต้ทางด่วน ถ.พระราม 4 หลายคนเคยเห็นภาพที่ทำได้กระทั่งเอาเด็กมาเป็นโล่มนุษย์ จนในที่สุด ศอฉ. จำเป็นต้องตัดสินใจเข้ายึดพื้นที่สวนลุมฯ ซึ่งเป็นที่ซ่องสุมของอาวุธและชายชุดดำในเช้าวันที่ 19 พ.ค. แต่ไม่ได้เข้าไปในพื้นที่ชุมนุม จนแกนนำยอมสลายเอง ซึ่งหากไม่ทำเช่นนั้น ความสูญเสียก็จะมีต่อไปไม่รู้จบ
เหตุการณ์ที่สะเทือนใจคนไทยอย่างมากก็คือ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่วัดปทุมฯ ผมรู้ว่าต้องมีคนติดอาวุธเข้าไปด้วย ต่อมามีการพบอาวุธที่ถูกนำไปซ่อนในที่นั้น ผมเคยถามด้วยซ้ำว่าหากมีการยิงกัน ปะทะกันจนเกิดความสูญเสีย ใครจะรับผิดชอบ แม้ในวันที่ 19 พ.ค.เอง ยังมีคนจากอีสานที่รับจ้างทำบ้องไฟกับเพื่อนๆ แต่สุดท้ายไม่ได้รับค่าจ้าง หลบหนีเข้าไปอยู่ในวัดปทุมฯ ต่อมาพยายามหนีกับเพื่อนๆ ออกจากประตูวัดด้านใกล้แยกอังรีดูนังต์ แต่เพื่อนที่วิ่งนำหน้าถูกกลุ่มชายชุดดำใส่หมวกไหมพรม 5-6 คน ยิงจนเสียชีวิตและลากศพไปเผาบริเวณที่บังเกอร์หน้าวัด เขาจึงวิ่งย้อนกลับไปหลบหนีออกด้านหลังวัด ในที่สุดชายคนนี้ได้ให้ปากคำที่ สน.ทุ่งมหาเมฆ ในฐานะพยานผู้เห็นเหตุการณ์การกระทำอันโหดร้ายของกลุ่มชายชุดดำ
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า แม้จะอยู่ในอารมณ์เศร้าสะเทือนใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขี้น แต่รู้ดีว่ามีหน้าที่ในฐานะนายกฯ เป็นนักการเมืองที่อาสาตัวมารับใช้ประชาชน ตนท้อไม่ได้ และไม่มีสิทธิ์ถอยเพราะถ้าทำอย่างนั้นเท่ากับตนทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน ที่ให้โอกาสเป็นตัวแทนปวงชนชาวไทยมายาวนานเกือบ 20 ปี
นายอภิสิทธิ์ ระบุอีกว่า การอยู่ท่ามกลางระหว่างสี ทำให้ตนเปรอะเปื้อนไปด้วยการสาดสีใส่โคลน แต่ตนรับสภาพด้วยความอดทนอดกลั้น
เพราะรู้ดีว่าการสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างการเมืองสุดโต่งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ตนยังไม่ละความพยายามที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในประเทศให้จงได้ ไม่ใช่ความปรองดองในหมู่นักการเมืองด้วยกัน แต่ต้องปรองดองบนความถูกต้อง ไม่ให้หลักการของประเทศเสียหาย วันนี้หลังเหตุการณ์ผ่านไปหนึ่งปี ยังคงมีกระบวนการที่ตั้งธงว่าตนเป็นฆาตกร ลองเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่ตากใบ กรือเซะ และการฆ่าตัดตอน 2,000 กว่าศพ แล้วจะเข้าใจความแตกต่างระหว่างการสั่งฆ่าประชาชน กับการรักษากฎหมาย