เผย ดีเอสไอเขียนประกาศ กคพ.ฉบับ 4 ให้อำนาจอธิบดี มีสิทธิ์เลือกคดีเป็นคดีพิเศษ
วันนี้( 13 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติพล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษก ตร. กล่าวถึงกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ เอสไอ จะเสนอครม.ให้พิจารณาคดีที่เป็นลักษณะการทำงานซ้ำซ้อนกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษพ.ศ. 2547 เพื่อกำหนดคดีพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 24 คดี ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้ให้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ ตร.ประชุมหารือร่วมกัน โดยจะให้บางคดีที่มีพฤติกรรมที่ไม่ใช่คคีพิเศษแยกออกไป แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ คาดว่าจะมีความคืบหน้าในเร็วๆ นี้ซึ่งคงไม่ใช่ทั้งหมด 24 คดีตามที่มีการเสนอมา
พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า เรื่องนี้ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกัน ซึ่งบางคดีต้องมีเงื่อนไขเพิ่มเติมถึงเป็นคดีพิเศษ
ในรายละเอียดจะแจ้งอีกครั้งหลังได้ข้อยุติว่ามีรายละเอียดเงื่อนไขอย่างไร โดยนายสุเทพจะเรียกประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อให้คดีเหล่านี้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษตำรวจจะเหลืองานอะไรทำ พล.ต.ต.ประวุฒิ กล่าวว่า ยังมีงานอีกมาก ทุกวันนี้ยังทำไม่ทัน ยืนยันว่าไม่ได้ถูกกดดัน ไม่ใช่เรื่องใหม่มีการนำเข้า ครม. มาก่อนหน้านี้และประสานร่วมกันทั้งสองหน่วยงาน ว่าอันไหนควรไม่ควร ทาง ตร.ก็สามารถเสนอเหตุผลได้ว่า ตร. ทำเป็นอย่างไร หรือดีเอสไอทำจะเป็นอย่างไร ยืนยันว่าไม่ทับซ้อนเพราะบางคดีอาจมีความซับซ้อนมากกว่า แต่คงยังไม่เข้า ครม.ในวันพรุ่งนี้ ต้องรอรายงานที่ส่งไปให้นายสุเทพพิจารณาก่อน
รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันที 7 มิ.ย. ตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และดีเอสไอมีการหารือในหลายประเด็น
โดยไม่ขัดข้องว่า ดีเอสไอจะนำคดีทีเกี่ยวข้องกับ 24 พรบ. ไปดำเนินคดีตาม พรบ. การสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งตามพรบ . การสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ สามารถนำคดีไปสอบสวนได้อยู่แล้วจำนวน 27 พรบ. แต่สิ่งที่ ตร. ทักท้วงคือ กรอบของการกำหนดว่าคดีไหนจะเป็นคดีพิเศษ โดยเฉพาะ ประกาศ กคพ.ฉบับที่ 4 2554 ซึ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา เรื่องการกำหนดรายละเอียดของลักษณะการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ ซึ่งมีนัยยะสำคัญว่า อธิบดี ดีเอสไอ สามารถสั่งคดีให้เป็นคดีพิเศษได้ โดยไม่ผ่าน คณะกรรมการคดีพิเศษ ส่งผลให้ทุกคดีเป็นคดีพิเศษได้หมด