ทรท.นัดประชุมเลือกผู้นำพรรค - จาตุรนต์ เปิดทาง จิ๋ว

ทรท.นัดประชุมเลือกผู้นำพรรค - จาตุรนต์ เปิดทาง จิ๋ว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 22 ธันวาคม 2549 22:23 น.

จาตุรนต์ แบะท่าพร้อมเปิดทาง จิ๋ว นั่งเก้าอี้ผู้นำไทยรักไทย เตรียมขออนุญาตประชุมกรรมการบริหารพรรคร่างนโยบายใหม่เร็วนี้ ย้ำไม่ฉวยโอกาสปลุกม็อบต้าน คมช.แน่ พร้อมยินดีหากมีการยกเลิกคำสั่ง คปค.ให้ทำกิจกรรมทางการเมืองได้

วันนี้ (22 ธ.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่พรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการทาบทามให้เป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนที่พรรคจะทาบทามให้ตนเป็นรักษาการหัวหน้าพรรคนั้นก็เคยทาบทาม พล.อ.ชวลิตมาแล้ว แต่ไม่ทราบว่าพรรคได้ติดต่อพล.อ.ชวลิตอีกหรือไม่ สำหรับตน ไม่เคยยึดติดกับตำแหน่ง เพราะไม่มีกลุ่ม ไม่มีมุ้ง ไม่มีทุน และหากการประชุมกรรมการบริหารพรรคนั้น แกนนำพรรคเห็นว่ามีผู้ที่มีความเหมาะสมและมีความพร้อมมากกว่าตนก็พร้อมจะหลีกทางให้ ส่วนการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคของตนนั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข คือ ที่ประชุมต้องเห็นพ้องต้องกันว่าตนมีความเหมาะสมกับตำแหน่งหัวหน้าพรรค

พล.อ.ชวลิต ถือว่าเป็นบุคคลที่ผมให้ความเคารพนับถือ ถ้าแกนนำพรรคเห็นสมควร เห็นว่าเหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรค ผมก็ยินดีรับหน้าที่ไปเชิญท่านมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค แต่จนถึงตอนนี้ผมก็ยังไม่ทราบว่าท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า บทบาทภายในพรรคของ พล.อ.ชวลิตเป็นอย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ พล.อ.ชวลิตไม่มีบทบาทใดๆในพรรค มีแต่อดีต ส.ส.ที่คุ้นเคย ไปมาหาสู่ พูดคุยกับท่าน ส่วนข่าวที่ออกมานั้นเป็นการกดดันต่อตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ตนไม่เคยยึดติด หากใครเหมาะสมกว่าก็ยินดีหลีกทางให้ เพราะการเป็นหัวหน้าพรรคในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ที่ตนยอมรับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค เพราะต้องการมีส่วนรักษาพรรคไทยรักไทยเอาไว้ รวมทั้งคิดว่าตรงนี้จะเป็นเวทีและเครื่องมือที่จะเรียกร้องต่อสู้ เพื่อประชาธิปไตย

รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เตรียมหารือกับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)

เพื่อยกเลิกประกาศคณะปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 15 และ 27 เพื่อเปิดทางให้พรรคการเมืองมีกิจกรรมทางการเมืองว่า เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและเป็นหลักสากล ซึ่งจากเดิมที่ พล.อ.สนธิเสนอให้แต่ละพรรคการเมืองทำหนังสือเสนอเพื่อดำเนินกิจกรรมเป็นเรื่องๆนั้น พรรคก็เตรียมทำหนังสือเสนอให้มีการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เป็นการมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ การติดตามการทำงานของรัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ คมช. การรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และเตรียมจัดทำร่างนโยบายของพรรคเพื่อปรับปรุงส่วนที่บกพร่องและวางนโยบายใหม่

นายจาตุรนต์ ยืนยันว่าจะไม่ใช้โอกาสนี้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในลักษณะเผชิญหน้าหรือมุ่งโค่นล้มคมช.หรือรัฐบาล เพราะการยึดอำนาจได้สำเร็จไปแล้ว เราไม่ต้องการต่อสู้เพื่อกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนวันที่ 19 ก.ย. เพราะมันเป็นไปไม่ได้

สำหรับกรณีที่มีความเป็นห่วงว่าในการประชุมใหญ่ของพรรคจะมีคนมาประชุมเป็นแสนคนนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่มีเหตุการณ์เช่นนั้นแน่ เพราะกรรมการบริหารพรรคขณะนี้มีไม่ถึงร้อยคน และในภาวะแบบนี้ไม่มีความจำเป็นต้องระดมพลไปชุมนุมที่สนามกีฬาให้เอิกเกริก เชื่อว่ามีคนมาประชุมจริงๆ แค่ 100-200 คนเท่านั้น

ส่วนที่ห่วงว่าหากมีการแก้ไขให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองแล้วอาจจะเกิดคลื่นใต้น้ำนั้น

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การทำผิดกฎหมายเป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่พรรคการเมืองถูกห้ามอยู่ในขณะนี้ ต้องขอขอบคุณประธาน คมช. และนายกรัฐมนตรีที่ตอบรับในเรื่องการยกเลิกคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 ทันที และหวังว่าจะได้ข้อยุติเรื่องนี้โดยเร็ว เพราะการร่างรัฐธรรมนูญใกล้จะมีขึ้นแล้ว

ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ความจริงแล้วประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 และ 27 มีหลายข้อ แต่เรื่องการลงโทษเพิกถอนกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสินให้ยุบพรรคโดยตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี มีการเขียนแยกไว้ชัดเจน เป็นคนละเรื่องกับการห้ามพรรคการเมืองประชุมซึ่งอยู่ในข้อ 1 สรุปคือ คณะรัฐมนตรีสามารถที่จะยกเลิกได้โดยเป็นมติ ครม.เพื่อให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ พรรคขอให้นายกรัฐมนตรีและ ครม.พิจารณาอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมือง และประชุมใหญ่ได้ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี

นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ตนเป็นห่วงในการร่างรัฐธรรมนูญที่อาจจะมีความขัดแย้งกัน

เนื่องจากหากไปดูในธรรมนูญชั่วคราว จะเห็นว่ากฎหมายที่ออกในช่วงยึดอำนาจมีความขัดแย้งกับกรณีที่มีการระบุว่าควรสามารถตรวจสอบว่ากฎหมายใดขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ แต่ทั้งนี้กฎหมายที่ออกในช่วง คมช.ยึดอำนาจนั้นมีการเขียนไว้ว่าเป็นกฎหมายที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตนเห็นว่าการเขียนกฎหมายเช่นนี้อาจสร้างความขื่นขมให้กับนักกฎหมาย และสร้างความขมขื่นให้กับกระบวนการออกกฎหมาย อยากฝากถึงประธานสนช.ด้วย เพราะหากเราต้องการตรวจสอบว่ากฎหมายใดขัดรัฐธรรมนูญบ้างก็ไม่สามารถจะตรวจสอบได้ เช่น การบัญญัติกฎหมายให้มีโทษย้อนหลังถึงการกระทำในอดีต อย่างกรณีประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ที่ระบุว่ากรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลตัดสินให้ยุบพรรคต้องถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์