นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้สมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ ช่วงสรยุทธ เจาะข่าวเด่น ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย.
นายชำนิ กล่าวว่า ทางพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มนปช.เป็นคู่ความขัดแย้งทางการเมือง
เนื่องจากการเคลื่อนไหวช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อกดดัน และล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นอกจากนี้ คู่ขัดแย้งที่ว่านี้ไม่เพียงแต่เป็นเฉพาะนายอภิสิทธิ์ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสถาบันต่างๆ ของสังคมไทย
ด้านนายณัฐวุฒิ กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งหมดเริ่มตั้งแต่การขับไล่พ.ต.ท. ทักษิณ เรื่อยมา
จนถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลทั้งที่แพ้การเลือกตั้ง ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ยืนตรงข้ามกับประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยอย่างชัดเจน เพราะ ฝ่ายตนปฏิเสธการรัฐประหาร แต่ประชาธิปัตย์กลับเพิกเฉยเพราะ เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับผลประโยชน์สูงสุดจากสถานการณ์การเมืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตนเห็นว่า เราต้องหาทางออกจากความขัดแย้งให้ได้เร็วที่สุด เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย
เมื่อสรยุทธ พิธีกรของรายการถามว่าหลังเลือกตั้งครั้งนี้การเมืองจะสงบ ยุติความขัดแย้งอย่างไร นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ทุกคนต้องเห็นร่วมกันก่อนว่าการเลือกตั้งเป็นจุดนับหนึ่งของการสร้างสันติภาพ โดยไม่ว่าผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรก็ปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้น รู้แพ้ รู้ชนะ ในสนามเลือกตั้ง ใครชนะก็เป็นรัฐบาลไปก่อน ใครชนะก็สร้างกระบวนการปรองดอง จากนั้นมาว่ากันใหม่
"เชื่อว่าวันนี้มีพรรคเดียวที่ชนะแล้วจะไม่ได้ตั้งรัฐบาล คือ พรรคเพื่อไทย เท่านั้น ขณะที่เมื่อพรรคอื่นชนะแล้วก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อย่างนี้ไม่ใช่ประชาธิปไตย"
นายชำนิ กล่าว่า ต้องยอมรับตอนนี้เลยว่า การเลือกตั้งเป็นทางออกของวิกฤติ และต้องยอมรับการเลือกตั้งต้องจบลงในสนามเลือกตั้ง ไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ขัดขวางการเลือกตั้ง และเมื่อแพ้เลือกตั้งจะไม่ออกมาเคลื่อนไหว ต้องยอมรับผลตอนนี้
"ปัญหาอยู่ตรงที่กลัวว่ามีการเลือกตั้งแล้ว ทุกเสื้อจะออกมาเคลื่อนไหวอีก " นายชำนิกล่าว
สำหรับเรื่องการเคลื่อนไหวหลังการเลือกตั้งแล้ว นายชำนิกังวลว่า
อาจยังมีการเคลื่อนไหวจากหลายฝ่ายรวมถึง คนเสื้อแดงซึ่งเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยแพ้คนเสื้อแดงต้องออกมาแน่นอน นายณัฐวุฒิ จึงตอบว่า พวกตนไม่เคยทำอย่างนั้นเพราะ ไม่เคยแพ้เลือกตั้ง มีแต่ชนะแต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเมื่อถึงสถานการณ์นั้นแล้วก็ต้องมาดูว่า เวลานั้นมันเกิดอะไรขึ้น เป็นไปได้อย่างไร เข้าไปคุยกันในค่ายทหารหรือไม่ พรรคร่วมรัฐบาลมีอิสระในการตัดสินใจหรือไม่