นักวิเคราะห์ต่างชาติข้องใจผู้นำศก.ไทย

นักวิเคราะห์ต่างชาติข้องใจผู้นำศก.ไทย

ตลาดหุ้นไทยดำดิ่ง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 ธันวาคม 2549 00:13 น.

เอเจนซี/เอเอฟพี - ตลาดแถบเอเชียพากันหล่นฮวบวานนี้(19) เนื่องจากนักลงทุนตื่นตระหนกที่หุ้นไทยตกวินาศสันตะโร ภายหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเข้มควบคุมเงินทุนไหลเข้า ซึ่งชวนให้หวนระลึกถึงวิกฤตการเงินเอเชียเมื่อปี 1997 ทางด้านนักวิเคราะห์มองด้วยว่า มาตรการดังกล่าวแม้อาจชะลอการพุ่งแข็งค่าของเงินบาทและช่วยเหลือผู้ส่งออก ทว่าความเสียหายของตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้น ทำให้ยิ่งเพิ่มความข้องใจเกี่ยวกับความสามารถของผู้นำทางเศรษฐกิจของไทยในยุคหลังรัฐประหาร

มาตรการคุมเข้มของ ธปท.ซึ่งมุ่งสกัดการแข็งค่าขึ้นอย่างมากของเงินบาทนั้น กลับทำให้เกิดความตกตะลึงในทั่วทั้งภูมิภาค และส่งผลให้มีการเทขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างหนักหน่วง อีกทั้งแพร่ความรู้สึกย่ำแย่ไปสู่ตลาดอื่นๆ ในเอเชียด้วย

ในบรรดาตลาดของประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้น ดัชนีราคาหุ้นของตลาดกัวลาลัมเปอร์ดิ่งลง 1.96% ขณะที่อินโดนีเซียทรุด 2.85% ด้านราคาหุ้นที่สิงคโปร์ร่วง 2.2% ส่วนตลาดหุ้นมุมไบของอินเดีย ดัชนีฮวบ 2.54% และดัชนีหุ้นของฮ่องกง ปิดตลาดลดลง 1.19%

สำหรับดัชนีนิกเกอิของตลาดโตเกียวตกลงมา 1.09% ส่วนตลาดมะนิลาลด 0.98% และตลาดโซลหายไป 0.38% โดยบรรดาโบรกเกอร์กล่าวว่า ภาวะความปั่นป่วนในตลาดหุ้นไทย ทำลายความหวังของนักลงทุนที่ลุ้นให้หุ้นกลับดีดตัวขึ้นสูงในช่วงสิ้นปี

เคนนี ถัง ผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัทหลักทรัพย์ตุงไถ่ในฮ่องกงกล่าวว่า ภาวะตลาดหุ้นเอเชียดิ่งลงเช่นนี้ ถือเป็นปฏิกิริยาตอบโต้อย่างอัตโนมัติต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดหลักทรัพย์ไทย

"มันเป็นผลกระทบแบบติดเชื้อโรคมาจากมาตรการควบคุมเงินทุนที่ประกาศโดยรัฐบาลไทย" เยห์คิมเลง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง อาร์เอเอ็ม คอนซัลแทนซี เซอร์วิเซส ในมาเลเซีย ให้ความเห็น "มันส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ"

นักวิเคราะห์หลายคนมองด้วยว่า หุ้นเอเชียจำนวนมากยังกำลังอยู่ในภาวะรอการปรับฐานอยู่แล้ว หลังจากดัชนีหุ้นสำคัญพากันทะยานไปซื้อขายกันที่ระดับสูงสุดหรือเกือบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบระยะเวลาหลายๆ ปี นอกจากนั้นดีลเลอร์ชี้ว่า จากการที่เหลือเวลาตลาดเปิดทำการอีกเพียง 3 วัน ก่อนปิดช่วงเทศกาลคริสต์มาส เหล่านักลงทุนจึงยิ่งรู้สึกว่าควรต้องเทเขายออกไปก่อนดีกว่า

ข้องใจความสามารถของผู้นำเศรษฐกิจไทย

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การประกาศใช้มาตรการคุมเงินทุนไหลเข้าของธปท.คราวนี้ ทำให้พวกนักลงทุนเซอร์ไพรซ์กันมาก จนส่งผลต่อราคาหุ้นและพันธบัตรอย่างหนักหน่วง อีกทั้งทำให้พวกนักวิเคราะห์รู้สึกข้องใจสงสัยว่า ทำไมแบงก์ชาติจึงคิดใช้มาตรการอันเข้มงวดรุนแรงถึงขนาดนี้

"พูดกันตรงๆ แล้ว ถ้าคุณเจอตลาดหุ้นถูกเทขายอย่างหนักหน่วงภายในวันเดียว สืบเนื่องจากการออกมาตรการทางนโยบายอย่างหนึ่งแบบนี้แล้ว ผมคิดว่าตลาดจะต้องตั้งคำถามต่อคณะผู้นำ มันเป็นธรรมดาที่จะต้องเป็นอย่างนั้น" ชาฮับ จาลินูส นักยุทธศาสตร์ด้านค้าเงินตราแห่งธนาคารเอบีเอ็น แอมโร ของเนเธอร์แลนด์ ประจำสิงคโปร์ ให้ความเห็น

การใช้มาตรการเพื่อมุ่งคุมค่าเงินบาทเช่นนี้ของธปท. ถือเป็นมาตรการอย่างที่ 3 แห่งนับแต่เดือนพฤศจิกายน หลังจากถูกกดดันจากพวกผู้ส่งออก ซึ่งร้องทุกข์ว่าเงินบาทที่แข็งโป๊กจะทำให้พวกเขาต้องขาดทุนล้มละลาย ต้องปลดคนงาน และสูญเสียตลาดให้แก่คู่แข่งที่เป็นผู้ส่งออกในเอเชียอื่นๆ

"มันบ่งชี้ให้เห็นว่าพวกเขารู้สึกวิตกเกี่ยวกับด้านความสามารถในการแข่งขัน(กับผู้ส่งออกของชาติอื่นๆ) แต่มันก็เหมือนกับการเทยาฆ่าวัชพืชไปจนทั่วทั้งสนามหญ้าของคุณ คุณฆ่าหญ้าตายไปด้วยนะ" จาลินูสกล่าวต่อ

เช่นเดียวกับ ศรียัน ปีเตอร์ซ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของเจพีมอร์แกน ซึ่งกล่าวกับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ว่า มาตรการล่าสุดของธปท. "มันก็เหมือนการฆ่ามดด้วยค้อน" พร้อมเสริมต่อว่า "มาตรการดังกล่าวน่าจะสามารถช่วยให้ผู้ใช้บรรลุเป้าหมายได้ ในการลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้เป็นเครื่องมือที่ก่อให้เกิดผลในวงกว้าง เพราะจะส่งผลกระทบไปถึงนักลงทุนหลักทรัพย์ด้วย"

และเมื่อคำนึงว่าไทยเพิ่งเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจมาไม่นานมานี้ รวมถึงแนวโน้มในอนาคตของรัฐบาลก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถกลับคืนสู่เส้นทางประชาธิปไตยภายใน 1 ปีได้หรือไม่ บรรดานักวิเคราะห์ชี้ว่า คงจะมีนักลงทุนต่างชาติไม่มากนักที่จะยอมนำเงินเข้ามาลงทุน โดยที่จะต้องคงเอาไว้อย่างน้อย 1 ปี ตามที่มาตรการใหม่บังคับไว้

ปีเตอร์ซชี้ต่อไปว่า "ไทยเป็นชาติที่เพิ่งมีการรัฐประหาร คุณจึงไม่สามารถวางใจได้อย่างสิ้นเชิงว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ควรเป็นจริงๆ ถ้าเป็นคุณ คุณจะเอาเงินมาเสี่ยงนานถึง 1 ปีหรือเปล่า"

ทางด้าน เอียน กิสบอร์น ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยแห่งบริษัทหลักทรัพย์ภัทระ ก็บอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ว่า มาตรการดังกล่าวยังสร้างปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับพวกนักลงทุนต่างชาติที่มุ่งมาลงทุนโดยตรงในไทยด้วย หลังจากที่พวกเขาก็ต้องกุมขมับอยู่แล้ว จากการที่รัฐบาลไทยแสดงทีท่ามีแผนการทบทวนกฎหมายการลงทุนของต่างชาติอันไม่ค่อยชัดเจนของประเทศ และในภาวะแบบนี้ ก็อาจบังคับให้นักลงทุนโดยตรงเหล่านี้ตัดสินใจเทขายทรัพย์สินในไทยที่ถือครองอยู่ออกไป

อย่างไรก็ตาม ในบทบรรณาธิการของไฟแนนเชียลไทมส์ฉบับวานนี้ ได้แสดงความเห็นว่า มาตรการล่าสุดในการควบคุมเงินทุนไหลเข้าของธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นนโยบาย "เลวร้ายน้อยที่สุด" ในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน พร้อมกับเสนอว่า หนทางในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนนั้น เอเชียต้อง "ขจัดการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคแถบนี้" โดยเฉพาะค่าเงินที่ต่ำเกินจริงของจีน

แบงก์ชาติมาเลย์ยันไม่เปลี่ยนนโยบาย

จากความเคลื่อนไหวของไทย ยังทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดผวาว่า ชาติอื่นๆ ในเอเชียจะเดินตามอย่างหรือไม่ ทำให้มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่ใช้มาตรการควบคุมเงินทุนอย่างเข้มงวด ในช่วงเกิดวิกฤตเอเชียปี 1997 ต้องรีบออกมาแถลงว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆทั้งสิ้น

"ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางมาเลเซียได้ดำเนินนโยบายเปิดเสรีตลาดการเงินและบัญชีทุนเป็นระยะๆอย่างค่อยเป็นค่อยไปมาตลอด และทิศทางของนโยบายนี้จะดำเนินต่อไปเช่นเดิม" แบงก์เนการา หรือธนาคารกลางของมาเลเซียระบุในคำแถลงวานนี้

ด้านรองนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ก็ออกมากล่าวว่า เขามั่นใจมากว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ไม่น่าจะส่งผลกระทบร้ายแรงจนเกิดเป็นวิกฤตการเงินทั่วภูมิภาคดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1990

"เราเรียนรู้จากบทเรียนในอดีตมาแล้ว และขณะนี้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆของมาเลเซียก็มีความแข็งแกร่งมาก" เขาบอก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์