แม้ว หืดจับ! อ๋อย ทะลึ่งจี้ สนธิ จับขึ้นศาล-พิสูจน์ข้ออ้าง

แม้ว หืดจับ! อ๋อย ทะลึ่งจี้ สนธิ จับขึ้นศาล-พิสูจน์ข้ออ้าง

จาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2549 17:04 น.

จาตุรนต์ ท้า สนธิ ชอบอ้างความชอบธรรม เหตุยึดอำนาจ สุมไฟให้เร่งจับ แม้ว ดำเนินคดีพิสูจน์ความผิด ยอมรับสมาชิกตบเท้าเข้าพบ บิ๊กจิ๋ว จริง เพราะถือเป็นผู้มีบารมีของ ทรท.เตรียมขนพลพรรคบุกจี้ กกต.กดดันเลิกคำสั่ง คปค.ห้ามประชุมพรรคการเมืองพรุ่งนี้

วันนี้ (18 ธ.ค.) ที่พรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยแถลงถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษถึงสาเหตุของการปฏิวัติ และแสดงความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ก่อนหน้านี้ ตนเชื่อว่า พล.อ.สนธิ ไม่ต้องการแสวงหาอำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัว รวมทั้งคงไม่มีแนวคิดสืบทอดอำนาจ และเป็นเพียงการทำหน้าที่ที่จำเป็น แต่การที่ พล.อ.สนธิ ออกมาแสดงความเห็นนั้นอาจเกิดผลเสียที่ตามมาในลักษณะไม่ตรงกับความคิด จิตใจ ของท่านเอง แต่คำพูดของท่านที่ถูกเรียบเรียงอย่างเป็นระบบ จึงเกรงว่า สิ่งที่ท่านอ่านคงเป็นการอ่านตามที่คนเขียนไว้และจะเกิดผลเสียที่ตามมา คือ

1.การที่ พล.อ.สนธิ ให้เหตุผลถึงความชอบธรรมในการยึดอำนาจ ตนเกรงว่า จะเป็นการปลูกฝังค่านิยมที่ผิดเรื่องประชาธิปไตย โดยเฉพาะการระบุว่าอดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทำไม่ดี แต่ยังไม่มีการพิสูจน์ จึงเกรงว่า ต่อไปผู้มีอำนาจทางทหารคิดว่ารัฐบาลเกิดปัญหาโดยไม่รอการพิสูจน์ตามกฎหมายก็จะดำเนินการยึดอำนาจ โดยอ้างความชอบธรรม

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า 2.การที่ พล.อ.สนธิ พูดถึงอดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ว่า บริหารผิดพลาด ทำผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ซึ่งตนเคยยืนยันมาตลอดว่าจะไม่แก้ต่างให้กับนายกฯ และรัฐมนตรี แต่ที่แสดงความเห็น เพราะห่วงว่าจะเกิดผลเสียตามมา และจะเกิดผลกระทบต่อตัวเอง ซึ่งหาก พล.อ.สนธิ พูดในฐานะประชาชนคนหนึ่ง หรือพูดก่อนเหตุการณ์ 19 กันยายน ก็มีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้ แต่การพูดในฐานะประธาน คมช.ที่เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศ เพราะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และองค์กรตรวจสอบ จึงเกรงว่า จะเป็นการชี้นำองค์กรต่างๆที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ และเป็นการก้าวก่าย แทรกแซง หรือครอบงำกระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่ถึงศาล โดยเฉพาะคณะกรรมการตรวจสอบต่างๆ ดังนั้น จึงควรทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม โดยผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศไม่ควรให้ความเห็นหรือความเชื่อไปก่อน

และ 3. การที่พล.อ.สนธิ แสดงความเห็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยระบุว่ายังไม่มีการศึกษา แต่สิ่งที่ พล.อ.สนธิ ตั้งคำถามถึงการร่างรัฐธรรมนูญ กลับเป็นการวางอย่างเป็นระบบ ซึ่งท่านถือเป็นประธาน คมช.ที่ทำหน้าที่เลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จาก 200 คน ให้เหลือ 100 คน รวมถึงการนำรัฐธรรมนูญบางฉบับมาแก้ไขหากประชาชนลงประชามติไม่เห็นด้วย ดังนั้น การตั้งคำถามของพล.อ.สนธิ จึงถือเป็นการชี้นำเรื่องรัฐธรรมนูญ

ต้องยอมรับว่า การร่างรัฐธรรมนูญถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะมีแนวโน้มที่มาจากอคติ และความไม่เข้าใจ

โดยเฉพาะการระบุว่าคนที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอย่างน้อย 2 ปี ก็เท่ากับได้คนที่ไม่สนใจทางการเมืองเป็นส่วนใหญ่ และการวางระบบเพื่อป้องกันผู้มีอำนาจในอดีตกลับมามีอำนาจขึ้นอีก เหล่านี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างที่มาทำลายล้าง หรือสกัดกั้นผู้มีอำนาจในอดีต หรือเคยอยู่ในระบบที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ และสุดท้ายก็จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกบิดเบือนไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง นายจาตุรนต์ กล่าว

เมื่อถามว่า เหตุผลหนึ่งที่ พล.อ.สนธิ อ้างถึงการปฏิวัติ คือ การขนคนของพรรคไทยรักไทย เพื่อปะทะกับกลุ่มพันธมิตรฯ จึงเกรงว่า จะเกิดความรุนแรง

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พล.อ.สนธิ ก็ถือเป็นผู้รักษาความสงบ จึงไม่สามารถพูดได้ว่าเกิดความไม่เรียบร้อย จึงนำอาวุธมายึดอำนาจเสียเอง ดังนั้น การอ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อถามว่า การที่ พล.อ.สนธิ ระบุถึงระบบการตรวจสอบ เกรงหรือไม่ว่าจะส่งผลการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีคนใน คมช.เคยพูดเรื่องนี้ก็ตาม แต่ประธาน คมช.ยังไม่พูดถึงเรื่องนี้

ส่วนกรณีกระแสข่าวอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย และอดีต ส.ส.พรรคไทยรักไทย เดินทางเข้าพบ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักซอยปิ่นประภาคมนั้น นายจาตุรนต์ กล่าวยอมรับว่า ตนได้ไปพบ พล.อ.ชวลิต จริง และก็ไปพบนักการเมืองอีกหลายคนทั้งที่บ้าน ที่ร้านอาหาร หรือแม้แต่เชิญมาที่พรรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองที่ยังอยู่ในพรรคไทยรักไทย หรือเคยอยู่ในพรรคไทยรักไทยมาก่อน โดยไม่มีวัตถุประสงค์อะไรเป็นพิเศษ แต่เมื่อเข้ามารับตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค ก็ต้องประสานขอความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ สำหรับ พล.อ.ชวลิต ก็ถือเป็นอดีตหัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ซึ่งตนก็เคยโฆษกพรรคคนแรก เคยเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลมาถึง 4 ปี ก็เช่นเดียวกับอีกหลายคน

เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า พล.อ.ชวลิต ได้ประเมินสถานการณ์การเมืองในอนาคต ว่า พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ อาจถูกยุบพรรค

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ท่านไม่ได้พูดกับตนถึงเรื่องนี้ เมื่อถามว่า การไปพบ พล.อ.ชวลิต ถือว่าท่านยังมีบทบาทในพรรคไทยรักไทยหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ไม่ใช่ การขอความเห็น ก็เพราะ พล.อ.ชวลิต ถือเป็นคนที่มีบทบาทในพรรคไทยรักไทย และเป็นผู้ที่ผมเคารพนับถือ ซึ่งท่านก็ไม่ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมืองอะไรเป็นพิเศษ เพียง และในช่วงปีใหม่ก็จะไปพบอีก

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ในวันที่ 19 ธันวาคม เวลา 14.00 น.ตนและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคไทยรักไทย จะเดินทางไปพบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเสนอให้ยกเลิกคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตรย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) ฉบับที่ 15 และ 27 ที่ห้ามพรรคการเมืองประชุมหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยจะเสนอให้กกต.ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชิญพรรคการเมืองต่างๆหารือถึงบทบาทของพรรคการเมืองหลังจากนี้ และในวันเดียวกันจะมีตัวแทนของพรรคไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์