สภาอาจารย์จุฬาฯมีมติเอกฉันท์ ให้มหา´ลัยถอนร่างม.นอกระบบ

สภาอาจารย์จุฬาฯมีมติเอกฉันท์ ให้มหา´ลัยถอนร่างม.นอกระบบ

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 ธันวาคม 2549 23:31 น.

สภาคณาจารย์จุฬาฯ มีมติเอกฉันท์ให้มหาวิทยาลัยถอนกฎหมายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบออกจากการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ชี้เร่งรีบ ตัดตอน ไม่ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง เปิดหลักฐานมัดเบื้องหลังเร่งผลักดันม.บูรพาออกนอกระบบ เผยมีการวางแผนกันเองเพิ่มอัตราเงินเดือนฝ่ายบริหารสูงกว่าเท่าตัว พร้อมโบนัสอีกไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน ระบุสภามหาวิทยาลัยกลายเป็นสภาเกาหลังต่างคนต่างแต่งตั้งกันเอง เชื่อหลักฐานชิ้นดังกล่าวจะทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้น

คะแนนเอกฉันท์ ค้านออกนอกระบบ 31 ต่อ 3

แหล่งข่าวจากที่ประชุมสภาคณาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา เวลา 13.00 น. สภาคณาจารย์ได้จัดให้มีการประชุมครั้งที่ 12/2549 เวลา 13.00 น. ณ ห้องประชุมสารนิเทศ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อสมาชิกที่เป็นตัวแทนคณาจารย์จุฬาฯ มาร่วมประชุมครบองค์ ประธานได้เสนอให้ลงมติในประเด็นความคิดเห็นต่อกฎหมายการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบเพื่อกำหนดจุดยืนของสภาคณาจารย์

ทั้งนี้ ผลการลงมติ ปรากฏเป็นเอกฉันท์ว่า สภาคณาจารย์คัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบด้วยคะแนน 31 ต่อ 3 เสียง โดย 31 เสียงเสนอให้มหาวิทยาลัยถอนร่าง พ.ร.บ.ออกมา โดยให้เหตุผลว่า ไม่ควรเร่งรีบ รวบรัด ตัดตอน แต่ควรทำตามหลักการ ระเบียบและกฎหมายประกอบให้เรียบร้อย รวมทั้งผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางและทั่วถึงก่อน ส่วน 3 คะแนนคือประธาน รองประธานและเลขาฯ งดออกเสียง

อนึ่ง แหล่งข่าวเปิดเผยด้วยว่า พรุ่งนี้(19 ธ.ค.) คณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ นัดแรก ในเวลาประมาณ 14.00 น.

เปิดหลักฐานปั่นค่าตัวผู้บริหารม.บูรพา

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้เคยมีการโจมตีถึงเบื้องหลังในการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยบูรพาว่า ผู้บริหารได้รับผลประโยชน์จากเรื่องนี้โดยตรง เนื่องจากอัตราเงินเดือนจะเพิ่มสูงขึ้น

ล่าสุด วานนี้(18 ธ.ค.) แหล่งข่าวจากอาจารย์มหาวิทยาลัยบูรพารายหนึ่งได้เปิดเผยว่า หลักฐานชิ้นสำคัญคือ รายละเอียดในการประชุมสภามหาวิทยาลัยบูรพา ครั้งที่ 1/2549 วันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2549 เรื่องร่างระเบียบมหาวิทยาลัยบูรพา ว่าด้วยค่าตอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งบริหาร โดยในการประชุมดังกล่าวได้จัดทำเอกสารเอาไว้อย่างชัดเจน โดยระบุไว้ว่าตำแหน่งอธิการบดีได้รับค่าตอบแทนรายเดือนสูงสุดที่ 250,000 บาท รองอธิการบดี คณบดีหรือเทียบเท่ารับเงินเดือนสูงสุด 200,000 บาท ผู้ช่วยอธิการบดี รองคณบดีหรือเทียบเท่า หัวหน้าภาควิชาหรือเทียบเท่า รับเงินเดือนสูงสุด 100,000 บาท และทุกตำแหน่งมีโบนัสไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน

ทั้งนี้ ระเบียบวาระดังกล่าวมีรองอธิการบดีซึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการและเลขานุการในที่ประชุมเป็นผู้รับผิดชอบการทำรายงานดังกล่าวและระเบียบวาระนี้ยังไม่ได้ถูกระบุไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เนื่องจากจะทำเป็นกฎหมายลูก

แฉเตรียมเพิ่มเงินเดือนกันเอง หาก ม. ออกนอกระบบ

ในการประชุมครั้งนั้น ได้มีการพิจารณาร่วมกันเพื่อขึ้นเงินเดือนให้แก่ฝ่ายบริหารทั้งหมดเมื่อนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบได้แล้ว เสมือนเป็นการวางแผนพร้อมมีระเบียบการเตรียมไว้ด้วย ซึ่งจากที่ปัจจุบันเงินเดือนของอธิการบดีประมาณการแล้วอยู่ที่ 70,000 บาท ทั้งนี้หากยังอยู่ในระบบราชการ การพิจารณารายได้หรือเงินเดือนขึ้นจะถูกระเบียบบังคับไว้ แต่หากออกนอกระบบเงินเดือนของอธิการบดีเมื่อรวมกับค่าตอบแทนด้านอื่นๆแล้วประมาณ 300,000 บาท

นี่คือ หลักฐานที่สะท้อนถึงกลุ่มผลประโยชน์ระหว่างสภามหาวิทยาลัยกับอธิการบดีหรือที่เรียกว่าสภาเกาหลังคือต่างคนต่างแต่งตั้งซึ่งกันและกันเอง เชื่อว่าหลักฐานชิ้นนี้จะทำให้สาธารณชนเข้าใจได้ง่ายที่สุด แหล่งข่าวระดับสูงกล่าว

ยื่นหนังสือให้นายก ถอนร่าง ม.นอกระบบ

วันเดียวกัน ว่าที่เรือตรี เอกวิทย์ มณีธร และนายเสริมสิทธิ์ สร้อยสอดศรี ผู้แทนพนักงานม.บูรพา เดินทางมายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นชอบเป็นกฎหมาย ซึ่งพนักงานม.บูรพามีอยู่ประมาณ 1,400 คนจะได้รับประโยชน์ เนื่องจากปัจจุบันบุคลากรในมหาวิทยาลัยส่วนมากเป็นพนักงานไม่ใช่ข้าราชการ และยังไม่มีกฎหมายรอบรับ หรือเปิดช่องให้ในเรื่องการบริหารงานบุคคล ทำให้พนักงานมหาวิทยาลัยมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกเลือกปฏิบัติและไม่มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์