นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมือง ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ก่อนหารือร่วมกับนายกรัฐมนตรีถึงการกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมว่า
กกต.คงต้องยืนยันว่าการจะจัดการเลือกตั้งได้นั้น ต้องมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับเพื่อประกอบการปฏิบัติงานของ กกต. หากออกประกาศ กกต.ตามมาตรา 7 วรรคท้ายของรัฐธรรมนุญแก้ไขเพิ่มเติมจะกลายเป็นปัญหา เพราะการส่งผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองกำหนดให้สาขาพรรคมีส่วนในการคัดสรรผู้สมัครลงรับเลือกตั้งในแบบ ส.ส.เขตและ ส.ส.สัดส่วนร่วมกับกรรมการบริหารพรรค ถ้าไม่แก้ไขก็จะเป็นจุดที่ทำให้ฟ้องร้องได้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 ยังเคยกำหนดให้การออกประกาศยังต้องผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ยุติปัญหาใดได้หมด เพราะเท่ากับว่าศาลรัฐธรรมนูญรองรับการทำงานทุกอย่างเลย แต่ในรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีระบุไว้ ดังนั้น ถ้า กกต.ไปออกประกาศ แล้วมีการฟ้องร้องต่อมาว่าประกาศที่ กกต.ออกนั้น ไม่ชอบ กกต.จะไม่มีอะไรพิง
นางสดศรีกล่าวว่า ภายหลังเลือกตั้งแล้ว ส.ส.ที่ได้รับการเลือกตั้ง ก็อาจจะไม่ได้รับการประกาศรับรองผล ตรงนี้จะเป็นปัญหาอย่างมากกับการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคที่ได้ ส.ส.มาในจำนวนใกล้เคียงกัน ก็จะเอามาเป็นประเด็นในร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่าประกาศที่ กกต.ออกนั้นชอบหรือไม่
"อย่าคิดว่า กกต.จะไม่ถูกฟ้อง เพราะในเมื่อเราไม่ใช่ศาลที่คำสั่งของเราเป็นที่สุด เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติ ต้องเห็นใจ กกต.ด้วย เราก็ไม่อยากให้การเลือกตั้งถูกร้องเป็นโมฆะ อีกทั้งการหารือกับผู้แทนพรรรคการเมืองก่อนหน้านี้ พรรคการเมืองต่างไม่เห็นด้วยที่จะให้ กกต.ออกประกาศเพื่อจัดเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าทุกพรรคจริงใจก็ใช้เวลาเพียง 1 เดือน ในการพิจารณาเพื่อผ่านร่างกฎหมาย 3 วาระรวดได้ และเรื่องการยุบสภาไม่ควรเป็นเรื่อง กกต.กับนายกฯ แต่ควรให้ทุกพรรคเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดวันยุบสภาและเลือกตั้งด้วย" นางสดศรีกล่าว