ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานการประชุม ได้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วถึง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หลังจากที่ ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขถ้อยคำบางมาตราของ กมธ.เพราะขัดกับหลักการที่สภา ได้รับมีมติรับหลักการเอาไว้ในวาระที่ 1
สำหรับเหตุผลในการมีมติเสียงข้างมากให้ถอนร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระ ออกไปเพื่อให้ กมธ.กลับไปแก้ไข เนื่องจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน อภิปรายท้วงติงว่า มาตรา 8 ที่กำหนดให้รัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท ถือว่าเป็นการเขียนกฎหมายที่มีสภาพบังคับรัฐบาลมากเกินไป เพราะตามหลักการเขียนกฎหมายแล้วไม่ควรเขียนถ้อยคำที่มีลักษณะของการระบุจำนวนตัวเลขลงไป สอดคล้องกับ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การกำหนดถ้อยลักษณะนี้ เป็นการผูกมัดรัฐบาลมากเกินไป เพราะหากจะกำหนดให้รัฐบาลจัดสรรเงินทุนประเดิม ควรมีถ้อยคำเพียงแค่การระบุว่าไปรัฐบาลควรอุดหนุนเงินทุนประเดิมเป็นจำนวนเพียงพอสำหรับการดำเนินการ แค่นี้ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งมีทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้านและรัฐบาลอภิปรายแสดงความเห็นตำหนิการแก้ไขของ กมธ.เช่นกัน โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิช ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขของ กมธ.ถือว่าขัดกับหลักการที่สภา ได้มีมติรับหลักการในวาระ ซึ่งในวาระแรกหลักการระบุเอาไว้แค่การเปลี่ยนระบบการนับคะแนนใหม่เป็นการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งและให้ส่งผลการนับคะแนนไปรวมที่เขตเลือกตั้งเพื่อนับคะแนนรวมเพื่อให้เกิดความรวดเร็วเท่านั้น
"แต่ปรากฏว่า กมธ.ได้แก้ไขและเสนอเข้ามาให้สภา พิจารณาวาระ 2 มีหลายมาตราที่ขัดกับหลักการเป็นอย่างมาก เช่น การกำหนดคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง เป็นต้น การแก้ไขแบบนี้ถือว่าขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาฯข้อที่ 117 ที่กำหนดให้ กมธ.อาจเพิ่มหรือตัดมาตราในร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.นั้น" นายประยุทธ์กล่าว