"จตุพร" แจ้งจับ "ธาริต-อัมพร" บิดเบือนคดี หลังออกโรงแถลงกรณีนักข่าวยุ่น
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 2 มี.ค. ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายจตุพร พรหมพันธ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พร้อมนายคารม พลทะกลาง ทนายความ และกลุ่มผู้สนับสนุน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ประสพโชค พร้อมมูล รอง ผบก.ป. เพื่อแจ้งให้ดำเนินคดีกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐาน (ผบช.พฐ.) ตามความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานให้กระทำความผิด โดยทำหนังสือร้องทุกข์มามอบต่อพนักงานสอบสวนเพื่อพิจารณาด้วย
โดย นายจตุพร กล่าวว่า เหตุที่ต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนครั้งนี้ เนื่องจากนายธาริต ได้รับคดีชันสูตรพลิกศพ และคดีฆ่าคนตายจากเหตุการณ์การเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2553 ไว้สืบสวนสอบสวนกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ มีมติรับเป็นคดีพิเศษ และมีการทำรายงานผลการสืบสวนสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว แต่นายธาริต กลับมีการแถลงข่าวในหลายเรื่อง รวมถึงกรณีนายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพโทรทัศน์ของสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่นด้วย ซึ่งหลังมีการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นแล้ว แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กลับอ้างว่าไม่มีอำนาจทำสำนวนการชันสูตรพลิกศพ จึงส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปดำเนินการต่อ
นายจตุพร กล่าวต่อว่า ต่อมาเมื่อวันที่ 27-28 ก.พ. ที่ผ่านมา นายธาริต และ พล.ต.ท.อัมพร ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า นายฮิโรยูกิ เสียชีวิตจากอาวุธปืนอาก้าซึ่งไม่ปรากฎในบัญชีว่ามีทหารหน่วยใดเบิกอาวุธปืนขนาดดังกล่าวออกไปใช้ปฏิบัติภารกิจในวันเกิดเหตุ เพราะเจ้าหน้าที่ใช้เพียงอาวุธปืนเอ็ม 16 จึงเป็นการบิดเบือนรูปคดี อีกทั้ง พล.ต.ท.อัมพร ก็ไม่ได้เป็นคณะกรรมการชันสูตรพลิกศพแต่อย่างใด แต่กลับออกมาร่วมแถลงข่าวกรณีนี้ ดังนั้นตนจึงเห็นว่าการกระทำของนายธาริต และ พล.ต.ท.อัมพร น่าจะมีเจตนาพิเศษโดยประสงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปคดี เพื่อปกปิดการกระทำผิดของผู้ถูกกล่าวหาหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดให้หลุดพ้นความรับผิดตามกฎหมาย
ด้าน พ.ต.อ.ประสพโชค กล่าวว่า ได้รับเรื่องและสั่งการให้ ร.ต.ท.ธนัทพัชร์ ครุฑชัยอนันต์ พงส.(สบ1) กก.1 บก.ป.สอบปากคำนายจตุพร ผู้ร้องทุกข์รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว ส่วนการพิจารณาดำเนินการนั้นเนื่องจาก นายธาริต และ พล.ต.ท.อัมพร ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนให้ ป.ป.ป.ดำเนินการภายใน 30 วันต่อไป.