“มาร์ค”เสียววาบถูกแม่ค้าหมูปิ้งบุกเดี่ยวประกบ ลุ้นกันวันนี้ประกันตัว 7 แกนนำคนเสื้อแดง"ดีเอสไอ"คัดค้าน
วันนี้ 22 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการมอบนโยบายการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ป้องกันและแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม ปรากฏว่าในระหว่างที่นายกฯกล่าวเปิดงานได้มีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เมื่อมีผู้หญิงคนหนึ่งวิ่งขึ้นไปบนเวทีและยืนประกบชิดนายกฯพร้อมกับยกป้ายหนังสือร้องเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษขนาดใหญ่ ทำให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยตกใจและตะลึงกับเหตุการณ์ดังกล่าว ก่อนจะวิ่งกรูกันเข้าไปนำตัวผู้หญิงลงจากเวทีไปยังบริเวณนอกห้องประชุมทันที
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หญิงคนดังกล่าวภายหลังทราบชื่อว่า น.ส.เกษศรินทร์ วุฒิวงศ์ อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 2333/125 แฟลตเทพประทาน พระราม 4 คลองเตย กทม.อาชีพแม่ค้าขายหมูปิ้ง มีอาการป่วยเป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดขึ้นสมองมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ แต่อาการไม่ดีขึ้น เนื่องจากพิษของโรคทำให้กลายเป็นคนหูหนวกและต้องรักษาด้วยการใส่ประสาทหูเทียมและมีการค่าใช้จ่ายสูง แต่ไม่มีเงินรักษาจึงไปร้องขอที่สภาสังคมสงเคราะห์แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ
จวกยับ รปภ.มาตรฐานต่ำ
น.ส.เกษศรินทร์กล่าวว่า เคยส่งจดหมายไปบ้านพักนายกฯแล้ว 1 ฉบับและส่งไปทำเนียบรัฐบาล 8 ฉบับ แต่ก็ไม่มีการตอบรับหรือความช่วยเหลืออย่างใด การมาในวันนี้ก็ไม่ต้องการมาสร้างความเดือดร้อนสร้างความวุ่นวาย ทำร้ายหรือขอเงิน แต่ต้องการให้ช่วยเหลือเรื่องการผ่าตัดใส่ประสาทหูเทียมเท่านั้น การที่บุกขึ้นไปบนเวทีเพราะต้องการให้นายกฯช่วยเหลือเพราะเดือดร้อนจริง ๆ
นายอิสสระ สมชัย รมว.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า เป็นสิ่งที่ตนก็คาดไม่ถึง ถือว่าการรักษาความปลอดภัยของนายกฯต่ำกว่ามาตรฐาน ที่ปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น เพราะถ้าเป็นผู้ที่คิดปองร้ายจะอันตรายมาก คนเป็นถึงนายกฯต้องรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ไม่น่าจะปล่อยให้เกิดเหตุแบบนี้ ตนได้กราบขออภัยท่านนายกฯกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งนายกฯก็สอบถามถึงการรักษาความปลอดภัย เบื้องต้นจะให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องตรวจสอบที่ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น อย่างไรก็ตามทางกระทรวงจะจัดหาสถานที่รักษาพยาบาลให้ความช่วยเหลือ น.ส.เกษศิรินทร์ต่อไป
รพ.ราชวิถีให้การช่วยเหลือ
ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า นางเกศศิรินทร์เป็นคนไข้เยื้อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องจากกินหมูดิบทำให้หูหนวก และเป็นไข้ในโครงการรักษาฟรีของ รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ สังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อหูไม่ได้ยิน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ได้ส่งต่อไปยังที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ แต่เนื่องจากผู้ป่วยเป็นกังวลก็เลยเดินทางมาที่ รพ.ราชวิถี เมื่อวันที่ 5 ธ.ค.53 นพ.เกียรติยศ โคมิน หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก ประสาทหูเทียม รพ.ราชวิถี ได้ให้คำแนะนำไปทำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (เอ็มอาร์ไอ)
รมว.สาธารณสุขกล่าวต่อว่า กรณีของนางเกศศิรินทร์ถ้าจะให้ได้รับการได้ยินเหมือนเดิมจะต้องใช้วิธีฝังเครื่องประสาทหูเทียม ซึ่งมีราคาประมาณ 8.5 แสนบาท- 1 ล้านบาทแต่มีเงื่อนไขว่าไม่ใช่ว่าจะฝังได้ทุกคน เพราะว่าจะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่าหูชั้นในไม่ตัน ถ้าตันก็ฝังไม่ได้ สำหรับประสาทหูเทียมนั้นไม่ได้อยู่ในสิทธิประโยชน์รักษาฟรีในปัจจุบัน แต่จากการที่ตนได้หารือกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมการแพทย์ และ ผอ.รพ.ราชวิถีแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่าจะมีการอนุเคราะห์ช่วยเหลือคนไข้รายนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งทาง รพ.ราชวิถีจะใช้เงินของมูลนิธิ รพ.ดูแลให้เป็นกรณีเฉพาะ
ยอมรับกินลาบแกล้มเหล้า
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำหรับคนหูหนวกจากการกินหมูดิบและตรวจแล้วพบเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ซูอิส ได้รับรายงานจากสำนักระบาดวิทยาว่า ปี 54 พบแล้ว 10 กว่าราย ส่วนใหญ่จะพบทางภาคเหนือ ดังนั้นขอฝากเตือนประชาชนว่าการรับประทานหมูดิบมีเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ และถ้ารุนแรงจะทำให้หูหนวกได้
ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบคนหูหนวกจากเชื้อดังกล่าวทุกปี และกระทรวงก็ได้เตือนประชาชนทุกปีว่าอย่ากินหมูดิบ
ขณะที่นางเกศศิรินทร์เปิดเผยเพิ่มเติมว่าตนหูหนวกตั้งแต่ปี 51 เพราะกินลาบแดงแกล้มเหล้าในงานวันเกิดกับเพื่อน ๆ จากนั้นก็รู้สึกปวดตามกล้ามเนื้อ มีไข้สูง หลังจากนั้น 2 ชม. บริเวณตามแขนก็มีรอยเหมือนไฟบุหรี่จี้ ปวดกระดูก และหลังจากนั้น 6 ชม. ก็ไม่ได้ยินอะไรเลย ที่ผ่านมาก็ได้ไปร้องเรียนทุกช่องทางแล้วแต่ไม่ได้รับการเหลียวแลจึงตัดสินใจไปร้องนายกฯ
“จิ๋ว”แย้ม 5 ข้อชนะเลือกตั้ง
อีกด้านหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย มีการสัมมนาเรื่อง “การทุจริตการเลือกตั้ง” โดยพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งว่า การที่จะชนะเลือกตั้งได้ต้องปฏิบัติตามแนวทาง 5 ข้อ คือ 1.สนับสนุนผู้นำทหารที่ประกาศชัดเจนว่าจะไม่ก่อรัฐประหาร 2. ต้องลงรับเลือกตั้งและต้องได้รับชัยชนะและตั้งรัฐบาลให้ได้ 3. เมื่อตั้งรัฐบาลได้ต้องเป็นรัฐบาลเฉพาะกาล เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของประเทศ โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งในขณะนี้ 4.ต้องทำให้ประเทศไทยกลับคืนมาสู่จุดที่ยิ่งใหญ่เหมือนในอดีตให้ได้ และ 5.นำเอาคนไทยผลัดถิ่น กลับมาสู่บ้านเกิดเมืองนอนให้ได้
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนยังหวังว่าพรรคจะชนะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ถึงก็ตั้งรัฐบาลยาก แต่ที่เป็นห่วงคือการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า การเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้า กทม.พลิกพรรคก็ชนะแบบแลนด์สไลด์ การบริหารประเทศวันนี้ล้มเหลวมาก ตนไม่เคยเห็นภาพคนไทยต้องเข้าคิวซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค หากเปรียบเทียบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯกับนายอภิสิทธิ์แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณเชื่อมั่นตัวเองแต่ก็เชื่อมั่นเอกชนด้วย แต่นายอภิสิทธิ์เชื่อมั่นตัวเองไม่เชื่อมั่นเอกชนแต่เชื่อราชการ จึงเหมาะที่จะเป็นปลัดประเทศมากกว่านายกฯ
ความเห็นขัดแย้งยื่นซักฟอก
รายงานข่าวแจ้งว่าในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ได้รายงานความคืบหน้าการเตรียมพร้อมอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งนายมิ่งขวัญได้ขอเลื่อนเวลายื่นญัตติออกไปอีกโดยให้เหตุผลว่ามีข้อมูลจำนวนมากที่ต้องพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรอง คาดว่าอย่างเร็วสุดวันที่ 28 ก.พ.ช้าสุด 2 มี.ค. แต่ให้ยื่นญัตติถอดถอนนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรายบุคคลต่อประธานวุฒิสภาวันที่ 25 ก.พ.นี้ เพราะประเมินว่ารัฐบาลอาจจะมีการยุบสภาภายในเร็ว ๆ นี้
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้มีการถกเถียงกันในกลุ่ม ส.ส. ส่วนหนึ่งต้องการให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงกลางเดือน มี.ค.ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเห็นควรว่าควรจะอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงหลังสงกรานต์ เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะยุบสภาในช่วงเดือน พ.ค.หรือ มิ.ย. หากอภิปรายในช่วงนั้นจะเป็นการเปิดแผลสร้างจุดอ่อนให้รัฐบาล อย่างไรก็ตามในการประชุมพรรควันที่ 22 ก.พ.ก็จะมีการหาข้อสรุปอีกครั้ง
ปชป.ซุ่มรับมือเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายเพื่อการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ได้เรียกประชุมทีมโฆษกพรรคประมาณ 10 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในยุทธศาสตร์รับมือการเลือกตั้ง โดยนายกอร์ปศักดิ์กำชับให้ทีมโฆษกทำงานอย่างเป็นระบบ จนถึงช่วงที่พรรคเพื่อไทยเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พรรคต้องเตรียมแผนรองรับ เช่น ออกแคมเปญในการสู้กับแคมเปญที่พรรคเพื่อไทยจะทยอยออกมา
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ นายกอร์ปศักดิ์ยังได้นำผลการสำรวจของพรรคมาแจ้งว่า กระแสความนิยมของนายอภิสิทธิ์สูงขึ้นมาก ส่งผลดีต่อคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และพบว่าในภาคอีสานประชาชนให้ความนิยมในพรรคมากขึ้น ขณะที่ภาคเหนือประชาชนให้การตอบรับในนโยบายหลายอย่าง
“ชวน”หนุนระบบเขตตั้งรัฐบาล
นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเสนอแนวคิดยึดคะแนน ส.ส.ระบบสัดส่วนเป็นตัวชี้นำในการจัดตั้งรัฐบาลว่า ควรให้ความสำคัญทั้งระบบสัดส่วนและระบบเขตเท่า ๆ กัน แต่ส่วนตัวคิดว่าต้องให้ความสำคัญระบบเขตมากกว่า เพราะคนที่จะผ่านระบบเขตเลือกตั้งมานั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ได้แยกว่าใครสำคัญกว่าใคร หัวใจสำคัญของการเมืองไทยคือการซื้อเสียงที่เป็นเรื่องใหญ่ไม่ควรมองข้าม ตนเคยเสนอ กกต.ว่าควรจะมีการรณรงค์เยาชนและคนไทยอย่างจริงจัง
เมื่อถามว่า นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ระบุคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส.ระบบสัดส่วน ถือว่ามีนัยยะสำคัญ นายชวนกล่าวว่า มีความสำคัญก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าระบบเขตเลือกตั้ง เพราะบางคนได้เป็น ส.ส.เพราะศักยภาพ แต่บางคนได้มาเพราะเป็นสมาชิกพรรค ไม่ได้มาจากความสามารถตัวเองทั้งหมด เมื่อถามว่า จะเป็นการผลักดันให้คนเลือกลงสมัคร ส.ส.ในเขตสัดส่วนมากกว่าเขตหรือไม่ นายชวนกล่าวว่า ระบบสัดส่วนจะเลื่อนระดับผู้อาวุโสขึ้นมา เหมือนคนที่อยากเป็นนักการเมืองแต่ไม่อยากเหนื่อยหรือเดินเลือกตั้ง แต่ความเห็นตนที่เคยเสนอไปนั้น คืออย่าไปแยกความสำคัญว่าใครสำคัญกว่า
สภาสูงถกแหลกองค์ประชุม
วันเดียวกันที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน ได้แจ้งว่า ขณะนี้มี ส.ว.67 คน ลาออก ทำให้เหลือ ส.ว. 83 คน ถือว่ายังประชุมได้ตามรัฐธรรมนูญ โดยองค์ประชุมต้องเกินกึ่งหนึ่งคือ 42 คน จากนั้นที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2554 (งบกลางปี 54 ) จำนวน 27 คน ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภา 22 คน ผู้แทนคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิ) 3 คน และผู้แทนจากสำนักงบประมาณ 2 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นได้หารือให้งดเว้นข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาข้อ 77 วรรคท้าย และข้อ 100 ว่าด้วยการทำงานของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)สามัญประจำวุฒิสภา เนื่องจาก ส.ว.สรรหา ลาออกไป 67 คน ทำให้งาน กมธ.เดินไม่ได้ เนื่องจากติดล็อกข้อบังคับการประชุมข้อ 77 วรรคสองที่กำหนดว่า กมธ.คณะหนึ่งให้มีไม่น้อยกว่า 9 คน แต่ไม่เกิน 15 คน และข้อ 77 วรรคท้ายที่กำหนดว่า ส.ว.คนหนึ่งเป็น กมธ.ได้ไม่เกินคนละ 2 คณะ และข้อ 100 ให้ประธาน กมธ.เป็นผู้แต่งตั้ง กมธ.ซึ่งก็มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามหลังการอภิปรายนาน 1 ชั่วโมงที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 70 ต่อ 1 งดออกเสียง 2
พบโครงการซ้ำซ้อน ก.เกษตรฯ
ต่อมาในช่วงบ่ายพิจารณางบฯกระทรวงเกษตรฯ ในส่วนของกรมชลประทาน จำนวน 1.6 พันล้านบาท ซึ่ง กมธ.ฝ่ายค้านได้ตั้งข้อสังเกตถึงการจัดทำรายการค่าปรับปรุงแหล่งน้ำที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติจำนวน 738 หน่วย ที่เป็นโครงการที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท รวมมูลค่า 1.2 พันล้านบาท ซึ่งไม่ได้มีรายละเอียดในเอกสารงบประมาณที่อาจจะเป็นช่องว่างให้มีการเบิกจ่ายเงินไปใช้ทั้งที่ไม่มีมูลค่าความเสียหายที่แท้จริง
นายธีระวงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ กล่าวยอมรับว่า อาจมีข้อบกพร่องในการทำเอกสารบ้างเพราะมีมากกว่า 700 โครงการ แต่ยืนยันว่าไม่มีการจงใจให้เกิดข้อบกพร่องเพื่อไปหาผลประโยชน์แน่นอน และถ้าหากมีการจงใจสอดแทรกเข้ามาก็พร้อมจะรับผิดชอบ และหาก กมธ.ท่านใดต้องการเอกสารเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องกรมชลประทานก็พร้อมให้อยู่แล้ว
ศาลนัดพิจารณาแก้ร่าง รธน.
อีกด้านหนึ่งที่สำนักงาน กกต.มีการประชุมคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งก่อนเข้าสู่กระบวนการสรรหา ได้มีการหารือนอกรอบถึงประเด็นที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ในฐานะรักษาการผู้ว่า สตง.จะสามารถเข้าร่วมการประชุมเพื่อทำหน้าที่เป็นกรรมการสรรหาได้หรือไม่ โดยมีรายงานว่านายพิศิษฐ์ ได้เดินทางมาพร้อมกับเอกสารและคำพิพากษาของศาลปกครอง ซึ่งการหารือดังกล่าวใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และนายพิศิษฐ์ได้เดินทางกลับ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการสรรหา
ด้านนายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ตนได้นำเรื่องที่ประธานรัฐสภาส่งเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเข้าชื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้นเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาหรือไม่ บรรจุเข้าวาระในการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 23 ก.พ.เพื่อพิจารณาว่าจะรับไว้พิจารณาหรือไม่
เบิกความ 7 แกนนำ นปช.
ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลได้ไต่สวนคำร้องที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายนิสิต สินธุไพร นายขวัญชัย ไพรพนา นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย และนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก จำเลยที่ 3,4,5,6,7,8 และ10 คดีร่วมกันก่อการร้าย ขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยยื่นหลักทรัพย์ขอประกันเป็นเงินสดคนละ 600,000 บาท โดย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น1 เข้าไต่สวนเป็นพยานปากแรก สรุปว่าไม่พบการสะสมอาวุธในพื้นที่การชุมนุม จากนั้นนายโสภณ ธิติธรรมพฤกษ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ฯ เบิกความสรุปว่า ระหว่างถูกคุมขังแกนนำ นปช .ทั้ง 7 คน มีความประพฤติเรียบร้อยให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า จากนั้นนายณัฐวุติ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.ขึ้นเบิกความสรุปว่า การชุมนุมยึดหลักสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ทุกคนพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามพยานหลักฐานและข้อเท็จจริง แกนนำ นปช.ไม่มีพฤติการณ์หลบหนีหากได้รับการปล่อยตัว
ศาลนัดฟังผล 22 ก.พ.
ต่อมาในช่วงบ่ายนายคณิต ณ นคร ประธาน คอป. ขึ้นเบิกความสรุปว่า ได้ทำข้อเสนอแนะให้กับนายกฯว่าการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน กรณีแกนนำเสื้อแดงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องได้รับการปล่อยตัว โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการก่อเหตุ จะทำให้มีการปรองดองสมานฉันท์ ส่วนศาลจะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่เป็นดุลพินิจของศาล พยานไม่อาจก้าวล่วง
ขณะที่ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสตร์ รองนายกรัฐมนตรี เบิกความสรุปว่า จากการเดินสายปองดองและพูดคุยกับแกนนำ นปช.ทั้ง 7 คน เห็นว่าถ้าแกนนำ นปช.ทั้ง 7 คน มาร่วมแนวทางปรองดองก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ ถ้าออกมาแล้วก่อความวุ่นวายตนคงไม่กล้าที่จะมาเป็นพยาน อย่างไรก็ตามภายหลังการไต่สวนพยานเสร็จ ศาลได้นัดฟังคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ในวันที่ 22 ก.พ.
พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ชำนาญการพิเศษ กล่าวถึงการขอประกันตัวของกลุ่ม นปช.ว่า ดีเอสไอต้องทำการคัดค้านการประกัน เพราะคดีอยู่ระหว่างการสอบสวน แต่หากส่งความเห็นไปยังศาลแล้ว อยู่ที่ดุลพินิจของศาลว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่