มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจยุบสภาตามสูตรการเมืองแล้ว รัฐบาลจะเลือกเวลาที่คะแนนนิยมสูงสุดยุบสภาแล้วจัดเลือกตั้งใหม่
เพราะจะเป็นโอกาสให้โกยคะแนนกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งกับเลือกยุบสภาตอนที่รัฐบาลกำลังง่อนแง่น ไปไม่รอด เรื่องแรกลืมไปได้เลย เพราะตอนนี้เลยจุดนั้น รัฐบาลหมดความได้เปรียบไปแล้ว คะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ไม่ได้พุ่งพรวดเหมือนตอนเป็นรัฐบาลใหม่ๆ
กลับกันคะแนนนิยมร่วงลงเรื่อยๆ
ประชานิยมหรือที่ตั้งชื่อหรูๆ ว่าประชาวิวัฒน์ที่ขุดขึ้นมาใช้ก็ไม่เข้าเป้า
กลับโดนรุมด่าหนักโดยเฉพาะไข่ชั่งโล
ปัญหาพรรคร่วมรัฐบาลก็รุมเร้า
ล่าสุดก็ปัญหาน้ำมันปาล์ม
ซัดกันนัวเนียระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย
กล่าวหากันไปมา ใครกักตุน ใครขวางนำเข้าน้ำมันปาล์ม
ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติ ไทยกับกัมพูชาที่รัฐบาลเดิมเกมผิดตั้งแต่แรก
คิดสร้างสถานการณ์หวังชิงความได้เปรียบ
แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นผู้เสียเปรียบเอง
จึงเหลืออีกทางเลือกคือ "ชิงยุบสภา" ก่อนที่รัฐบาลจะพังครืน
แต่ปัจจัยหลักที่จะเป็นตัวเร่งให้นายอภิสิทธิ์ตัดสินใจยุบ
ก็คือ "ม็อบ"!!
ซึ่งไม่ใช่ม็อบเหลืองที่มีกันอยู่หร็อมแหร็ม แถมสุดโต่งคลั่งชาติ บ้าสงคราม
แต่เป็นม็อบแดงที่ชุมนุมกันแต่ละครั้งมากันหลักหมื่น เฉียดแสนคนด้วยซ้ำ
เส้นตายรัฐบาลอยู่ที่วันที่ 19 พ.ค.นี้
เป็นวันครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์สลายม็อบราชประสงค์
ทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคน
ที่ผ่านมา รัฐบาลปฏิเสธความรับผิดชอบ 91 ศพมาตลอด
ทั้งที่เป็นต้นตอให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากขนาดนี้
ความคับแค้นใจของคนเสื้อแดงที่สะสมมานาน 1 ปี จะแปลงเป็นการแสดงพลังด้วยการรวมตัวชุมนุมครั้งใหญ่
เพื่อทวงความยุติธรรมกลับคืนมา
ถึงเวลานั้นคนเสื้อแดงจะเป็นตัวแปรสำคัญ
ทำให้นายอภิสิทธิ์ต้องตัดสินใจยุบสภา
นายอภิสิทธิ์คงคิดไม่ถึงว่า นี่คือผลพวงจากคำสั่งใช้มาตรการทหารกับการชุมนุมของประชาชน เพื่อรักษาเก้าอี้นายกฯ ในตอนนั้น สุดท้ายจะต้องทิ้งเก้าอี้นายกฯ
เพราะประชาชนกลุ่มเดิมออกมาทวงความยุติธรรม