เบื้องลึกบิ๊กสรรพากรตายหมู่ รุกคืบภาษีโอ๊ค-เอม5,846ล้าน

ฐานละเว้นการเก็บภาษี....



จากมติ ป.ป.ช. ไล่ออก-เอาผิดติดคุก "ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์" และ 4 เจ้าหน้าที่สรรพากร ฐานละเว้นการเก็บภาษีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กรณีโอนหุ้นชินคอร์ป 738 ล้าน กลายเป็นประเด็นเขย่าขวัญข้าราชการที่รับใช้การเมืองจนตัวตาย คำถามที่คนในสังคมถามกันมากที่สุดคือ จะแน่ใจได้อย่างไรว่า กลุ่มคนที่ถูกลงโทษ ไม่ใช่แพะของนักการเมือง หรือไอ้โม่งที่ยังลอยนวล


ให้ความเป็นธรรมกับกับทุกฝ่าย ...


ล่าสุด ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เรื่องนี้คงจะต้องรอให้ทาง ป.ป.ช.ส่งสำนวนการสอบสวนมาให้กระทรวงการคลังก่อน คาดว่าจะเป็นสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นทางกระทรวงการคลังจะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการ อ.ก.พ. เพื่อพิจารณาความผิดข้าราชการกรมสรรพากรทั้ง 5 คน โดยความรับผิดในทางวินัยจะมีความแตกต่างกันไปตามระเบียบของทางราชการ คงจะต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดและให้ความเป็นธรรมกับกับทุกฝ่าย มิฉะนั้นอาจจะถูกฟ้องศาลปกครอง

"แนวทางนั้นทางกระทรวงการคลังคงจะไม่ต้องไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงอะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว เพราะผลสอบของ ป.ป.ช.ค่อนข้างที่จะครบถ้วนมีความเป็นกลาง สามารถดำเนินการตามระเบียบของ ก.พ.ต่อได้ทันที ไม่ต้องไปตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบอีก"


บรรยายอย่างละเอียดมาก ....


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าการตัดสินของ ป.ป.ช.ในการชี้มูลความผิดในครั้งนี้ ตามสำนวนได้มีการบรรยายอย่างละเอียดมาก แต่ในสำนวนยังขาดการสืบสวนสอบสวนพยานปากเอกที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก นั่นก็คือ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อธิบดีกรมสรรพากร ที่ได้มอบอำนาจให้นายศิโรตม์ ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากรเป็นผู้ลงนาม ตอบข้อหารือผู้เสียภาษีแทน


หรืออาจจะเป็นความบังเอิญ..........


ข้อสังเกตคือ ป.ป.ช.ได้สอบสวน นายศุภรัตน์ อธิบดีกรมสรรพากรในขณะนั้นหรือไม่ หรืออาจจะเป็นความบังเอิญทำชื่อนายศุภรัตน์หล่นหายไประหว่างการสอบสวน

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายของกรมสรรพากรที่ติดร่างแห 4 คน บางคนที่ถูกบังคับให้ต้องลงชื่อ ผ่านเรื่องไปให้นายศิโรตม์อนุมัติ และบางคนก็อยากจะมีอนาคตข้าราชการที่ก้าวหน้า โดยใช้วิธี "บายพาส" แต่ต้องมาตกม้าตายในตอนจบ


เหยื่อทั้งหมดเชื่อคำแนะนำ.........


สาเหตุลึกๆ ที่ "ตายหมู่" เกิดจากการที่เหยื่อทั้งหมดเชื่อคำแนะนำของมือกฎหมายระดับพระกาฬผู้หนึ่ง ซึ่งรับอาสาจะร่างคำให้การต่อสู้ในชั้น ป.ป.ช. มือกฎหมายชี้แนะว่า ถ้าตอบตามนี้ให้เป็นแนวเดียวกันรอดแน่นอน

เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายที่ถูก ป.ป.ช.สอบจึงตอบเป็นแนวเดียวกันหมด จนนำไปสู่การฌาปนกิจหมู่ นอกจากนี้ ยังเกิดจากความชะล่าใจที่คิดว่า ป.ป.ช.จะไม่เชือดรุนแรงขนาดนี้


ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก .........


จริงๆ แล้ว จุดจบของบิ๊กกระทรวงการคลัง ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนไปในอดีต มีกรณีนำเข้ารถยนต์โตโยต้าซอเลอร์ในสมัยนายไกรสีห์ จาติกวณิช เป็นอธิบดีกรมศุลกากร ก็เป็นเรื่องของการเสียภาษีไม่ถูกต้อง ช่วงแรกที่มีการนำเข้านั้นนายไกรสีห์อ้างว่าไม่รู้เรื่อง เพราะมีข้าราชการกรมศุลกากรเป็นคนจัดหารถมาบริการ แต่ที่สุด นายไกรสีห์ก็ต้องออกจากราชการ

รวมถึงกรณีของนายนิพัทธ พุกกะณะสุต อธิบดีกรมธนารักษ์ นำเช็คมูลค่า 16 ล้านบาท ไปแลกกับนายราเกซ สักเสนา ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด ภายหลังจากที่แบงก์ถูกปิดกิจการ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าไปตรวจค้นและยึดเอกสารของนายราเกซ บังเอิญไปเจอเช็คฉบับของนายนิพัทธ จากนั้นทางคณะกรรมการ ป.ป.ป.ในสมัยนั้นได้สืบสวนขยายผลจนพบเส้นทางเดินของเช็คฉบับนั้น และพบว่ามีทั้งหมด 5 ฉบับ คิดเป็นมูลค่า 30 ล้านบาท สั่งจ่ายจากกลุ่มบุคคลที่ได้รับคัดเลือกให้เข้ามาทำสัญญาพัฒนาที่ดินราชพัสดุบริเวณหมอชิต โดยนายนิพัทธอ้างว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการขายเหรียญรัชกาลที่ 5 แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอดต้องถูกให้ออกจากราชการ และล่าสุด ป.ป.ช.ยังตามไปยึดทรัพย์


โดยเฉพาะระดับ 7-8-9.........


สำหรับบทเรียนในอดีตตอกย้ำว่า "ความโลภเป็นบ่อเกิดแห่งความหายนะ" และประเด็นสำคัญที่เป็นบทเรียนสอนใจสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะระดับ 7-8-9 ที่หวังจะเติบโตในวงราชการแบบ "บายพาส" โดยยอมกระทำในสิ่งที่ผิด เพื่อสนองผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง อาจพบจุดจบแบบน่าอนาถใจ

เอาเข้าจริงแล้ว กรณีภาษีนายบรรณพจน์ เป็นเพียงหนึ่งใน 4 เรื่องใหญ่ ในขณะที่อีก 3 เรื่องกระบวนการตรวจสอบได้คืบหน้าไปเรื่อยๆ ล่าสุด เมื่อวันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา ชินวัตร จากบริษัท แอมเพิลริช จำกัด เปิดเผยหลังประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการ ว่า ที่ประชุมได้รับหลักการร่วมกันใช้มาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร เพื่อสั่งการให้กรมสรรพากรประเมินและเรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และนางสาวพินทองทา จำนวน 5,846 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการพิจารณาการซื้อขายหุ้นชินฯในรายการอื่นๆ ว่ามีภาระต้องเสียภาษีหรือไม่อย่างไรด้วย


เราต้องค่อยๆ ไล่ดูว่าแต่ละกรณีมีรายละเอียดอย่างไร .....


"การซื้อขายหุ้นชินฯนั้นมีประมาณ 3-4 กรณี พันกันไปหมดเหมือนหนวดปลาหมึก เราต้องค่อยๆ ไล่ดูว่าแต่ละกรณีมีรายละเอียดอย่างไร และมีความเกี่ยวพันกันไหม โดยในส่วนของแอมเพิลริช นั้นเรายังไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากทางธนาคารที่ขอไป ก็คงต้องรอเวลา" นายวิโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ ในการประชุมอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีนาย วิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบ เป็นประธานการประชุม ได้มีการสรุปผลสอบสวนคดีเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป และมีการแบ่งแยกออกเป็น 4 ประเด็น พร้อมกับตั้งอนุกรรมการไต่สวน 4 คณะ ประกอบด้วย


กรณีที่...1.........

1.กรณีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซื้อหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น จากนางสาวดวงตา วงษ์ภักดี คนรับใช้คุณหญิงพจมาน ชินวัตร จำนวน 738 ล้านบาท ซึ่ง คตส.ตั้งอนุ กรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินคดีทางอาญากับนายบรรณพจน์ กับพวกอีก 5 คนไปก่อนหน้านี้แล้ว

2.กรณีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปในปี 2543 ที่มีการทำธุรกรรมด้วยกันทั้งสิ้นสามครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมาน ขายหุ้นชินคอร์ปให้นายพานทองแท้ 73,395,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ 150 บาท ทำให้นายพานทองแท้ได้รับผลประโยชน์จาก "ส่วนต่าง" ราคาหุ้นเป็นเงิน 10,275 ล้านบาท ถ้าต้องจ่ายภาษีคิดเป็นเงินประมาณ 3,800 ล้านบาท


ได้รับผลประโยชน์จาก .....ส่วนต่าง

ส่วนครั้งที่ 2 คุณหญิงพจมานขายหุ้นชินคอร์ปให้นายบรรณพจน์จำนวน 26,825,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาท ทำให้นายบรรณพจน์ได้รับผลประโยชน์จาก "ส่วนต่าง" ราคาหุ้นเป็นเงิน 3,755 ล้านบาท ถ้าต้องจ่ายภาษีคิดเป็นเงินประมาณ 1,389 ล้านบาท และครั้งที่ 3 คือ พ.ต.ท.ทักษิณขายหุ้นชินคอร์ปให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว 2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ขณะที่ราคาตลาด 150 บาท ทำให้นางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับผลประโยชน์จาก "ส่วนต่าง" ราคาหุ้นเป็นเงิน 280 ล้านบาท

3.กรณีการซื้อหายหุ้นชินคอร์ประหว่างนายพานทองแท้ ชินวัตร กับ น.ส.พินทองทา ชินวัตร เมื่อปี 2545 จำนวน 376 ล้านหุ้น

4.กรณีนายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ซื้อหุ้นชินคอร์ป จากแอมเพิลริช เมื่อต้นปี 2548 โดยไม่ได้เสียภาษี 15,802 ล้านบาท

กล่าวกันว่า ทั้งหมดอาจเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งที่เกิดขึ้นในช่วงระบอบทักษิณเรืองอำนาจ และข้าราชการยอมสวามิภักดิ์


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์