ยูเอ็นเรียกร้องไทย-เขมรหยุดยิงถาวร ยันไม่ร่วมประชุม รมต.ต่างประเทศอาเซียน ส่วนทร.ส่งเรือรบประชิดชายแดน
เมื่อเวลาประมาณ 00.30 น. วันที่ 15 ก.พ.(ตามเวลาในประเทศไทย) นางมาเรีย ลุยซา ริเบโร วิออตติ ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แถลงภายหลังการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแสดงความวิตกอย่างยิ่งต่อปัญหาขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา และเรียกร้องให้สองฝ่ายทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร ตลอดจนแสวงหาหนทางแก้ปัญหาอย่างสันติ นอกจากนี้ยูเอ็นเอสซีแสดงความยินดีและชื่นชมอาเซียนที่จะมีแผนจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 22 ก.พ. นี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยในขั้นนี้ยูเอ็นสนับสนุนการเจรจาแบบสองฝ่าย โดยมีอาเซียนเป็นผู้สนับสนุน และจะไม่มีการส่งตัวแทนของยูเอ็นไปร่วมประชุมอาเซียนแต่อย่างใด
นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ย้ำท่าทีเดิมของอาเซียนว่า
สนับสนุนให้ทั้งสองประเทศหาข้อตกลงร่วมกันผ่านการเจรจาระดับทวิภาคี โดยมีอาเซียนเป็นผู้ประสานและให้ความช่วยเหลือ สำหรับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ประเด็นการหารือสำคัญ ได้แก่ การแสวงหากลไกที่จะนำไปสู่การหยุดยิงอย่างถาวร รวมถึงการแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารด้วย ทั้งนี้กัมพูชาได้หยิบยกเรื่องทหารรักษาสันติภาพสหประชาชาติเข้าไปยังพื้นที่พิพาทด้วย แต่ยูเอ็นไม่มีปฏิกิริยาแต่อย่างใด
ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ แถลงว่า ขอบคุณยูเอ็นเอสซีที่ให้โอกาสไทยในการชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือน ก.พ. และฝ่ายไทยยึดหลักการแก้ไขปัญหาด้วยสันติ ส่วนการเจรจาระดับทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งด้านชายแดน และในเวทีอาเซียน เป็นสิ่งสำคัญ โดยปฏิเสธการเข้าแทรกแซงการเจรจาโดยสหประชาชาติ รวมทั้งข้อกล่าวหาที่ว่าฝ่ายไทยเป็นผู้เปิดฉากยิงเข้าใส่ทหารกัมพูชา ดังที่ทางการกัมพูชากล่าวอ้างมาโดยตลอด
รมว.ต่างประเทศได้ยกตัวอย่างข้อขัดแย้งบริเวณชายแดนระหว่างรัสเซียกับญี่ปุ่น และจีนกับอินเดีย ที่ดำเนินมานานกว่า 40 ปี แต่ยังไม่มีการเจรจาระหว่างกัน ขณะที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้เปิดการเจรจาผ่านคณะกรรมการชายแดนร่วม (เจบีซี) กันมาแล้ว ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาได้ในที่สุด ทั้งยังย้ำด้วยว่า ไทยและกัมพูชาต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยกันในฐานะเพื่อนบ้านที่ดี
ต่อจากนั้นนายฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา แถลงย้ำว่าไทยเป็นผู้เปิดฉากยิงใส่กัมพูชาก่อน และตั้งข้อสงสัยว่า
ทำไมฝ่ายไทยจึงยึดมั่นกับการเจรจาที่ล้มเหลว ทั้งที่กัมพูชาเรียกร้องให้มีฝ่ายที่สามเข้าร่วมในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้ง อย่างกองกำลังรักษาความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรืออย่างน้อยที่สุดคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่จะช่วยเป็นหลักประกันได้ว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิงถาวรกับฝ่ายไทยได้ โดยกัมพูชาจะนำประเด็นเข้าหารือในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ในวันที่ 22 ก.พ.ต่อไป
ด้านรายงานข่าวกองทัพเรือแจ้งว่า พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ได้สั่งการให้กองทัพเรือภาคที่ 1 ปรับแผนการปฏิบัติงานตามปกติ โดยให้นำเรือฟริเกตหรือเรือรบติดจรวจปล่อยนำวิถี แล่นไปปฏิบัติงานเพื่อลาดตระเวนในพื้นที่ เกาะช้าง-เกาะกูด จ.ตราด เพื่อเป็นการป้องกันหากเกิดเหตุการณ์ปะทะ บริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อเป็นการวางมาตรการเฝ้าระวังพื้นที่น่านน้ำของไทย หรือในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และการรักษาความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนคนไทย รวมถึงป้องกันการแทรกซึมการเข้ามาหาข่าวของกัมพูชา
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ที่สำคัญหากเกิดเหตุปะทะขึ้นเรือฟริเกตจะสามารถสนับสนุนทหารนาวิกโยธินในพื้นที่ทางบก หรือยิงปืนใหญ่สนับสนุนบริเวณชายฝั่งได้ทันที ซึ่งขณะนี้เรือฟริเกตเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ เกาะช้าง – เกาะกูด จ.ตราด แล้ว ภายหลังก่อนหน้านี้กองทัพเรือได้ระดมเรือตรวจการณ์ปืนเข้าไปปฏิบัติงานบริเวณดังกล่าวเช่นเดียวกัน เพื่อเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและรักษาความปลอดภัยของน่านน้ำไทย