คมชัดลึก : จากภาพความคุ้นเคย ยิ้มแย้ม ทักทาย แบ่งปันเอื้ออาทรต่อกันตามประสา "คนชายแดน" และ "แนวหน้า" ผู้ปกป้องดินแดนของกันและกัน ไม่มีใครคาดคิดว่าวันเวลาแห่งความขัดแย้งบาดหมางจะเดินทางมาอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าจะมีการเจรจาและตกลงยุติการใช้ความรุนแรงกันได้ ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีจะกลับคืนมาได้ดั่งเดิม “เสถียร ศรีมุกดา” อาสาสมัครทหารพราน กองร้อยทหารพรานที่ 2308 กองกำลังเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 23 ที่ประจำการอยู่ด่านหน้า ฐานที่มั่นบนปราสาทพระวิหาร บริเวณใกล้วัดแก้วฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ชุดที่ปะทะกับกองกำลังทหารกัมพูชาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดฉากสู้รบกันนั้น ส่งผลให้ เสถียร ได้รับบาดเจ็บจนต้องมานอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลใน จ.อุบลราชธานี
"ไม่เคยคิดฝันว่าจะเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงและบานปลายแบบนี้ จากที่ผมมาประจำการอยู่ที่ฐานที่มั่นแห่งนี้ 3 ปี เคยไปมาหาสู่ พูดคุยแบ่งปันอาหารกันอยู่เป็นประจำกับทหารเขมร เจอกันก็จำหน้ากันได้ บางครั้งผมก็เคยออกไปหาของป่ายังเจอกัน ช่วยเหลือกันอยู่เลย บางทีเราขาดเหลืออะไรเขาก็หยิบยื่นให้มา จนรู้สึกว่าพวกเขาเป็นพี่น้องเพื่อนฝูงกัน และบ่อยครั้งที่นั่งดื่มเหล้าด้วยกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน จนแทบแยกไม่ออกว่าใครเป็นคนเขมรใครเป็นคนไทย" อาสาทหารพรานย้อนถึงความทรงจำดีๆ ของมิตรภาพต่างแดน
มาวันนี้ เสถียร ยอมรับว่า ความไว้เนื้อเชื่อใจของทหารที่ยืนประจันหน้ากันอยู่นั้น ไม่คงเหลือความรู้สึกดีให้กันอีกแล้ว แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยร่วมดื่มสุรา หาของป่า ทั้งนี้เพราะทหารต้องทำตามคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด เพื่อรักษาและปกป้องอนาธิปไตยของประเทศให้คงอยู่ หลังจากนี้ไปถึงแม้ว่าความรุนแรงจะยุติลง ความสัมพันธ์ดีๆ ที่เคยมีให้กันคงไม่เหมือนเดิมแล้ว
ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์ระดับรากหญ้าชายแดน “ชัยสินธิ์ แจ่มไทสง” ชาวบ้านเสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเกิดและเติบโตอยู่ที่ชายแดนไทย-กัมพูชา เคยเข้าป่าเพื่อไปหาของป่าครั้งแรกกับชาวเขมรซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อ และหลังจากนั้นทุกๆ ครั้งที่เข้าป่าก็มักจะเจอคนเขมร ซึ่งเป็นทหารเขมร เมื่อพวกเขาไม่ได้ประจำการแล้วก็จะถอดเครื่องแบบแล้วใช้ชุดพลเรือนออกมาหาของป่า ที่สำคัญยังเดินมากับทหารไทยด้วย เจอกันก็ทักทายด้วยภาษาไทยและภาษาเขมร เพราะคนชายแดนทั้งสองประเทศมีวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงกัน ทั้งในเรื่องอาหารการกิน ประเพณีตลอดจนความเชื่อต่างๆ คล้ายกัน จึงแทบไม่อยากจะเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันรุนแรงขนาดนี้ โดยเฉพาะการโจมตีมาที่เขตชุมชน ที่ตั้งบ้านเรือนของพลเรือน
“ผมก็ไม่ได้โกรธหรือเกลียดคนเขมร ผมว่าการที่ทั้งสองประเทศมีปัญหากันมันเป็นเรื่องของคนส่วนกลาง ชาวบ้านอย่างเราๆ จะไปรู้อะไร ผมอยากจะอยู่อย่างสงบสุข ทำมาหากินไปวันๆ แต่ถ้าถามผมว่า หลังจากนี้กล้าเข้าไปหาของป่าไหม ผมไม่กล้าเข้าไปแล้ว เพราะไม่รู้ว่าคนเขมรคิดอะไรกับเรา สิ่งที่พวกเขาได้รับตอนนี้มีแต่ความสูญเสีย” ชัยสินธิ์กล่าว
ขณะที่ “พงษ์ศักดิ์ คำทรัพย์” เจ้าหน้าที่อนามัยบ้านเสาธงชัย ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ยืนยันว่า ชาวบ้านและทหารที่ชายแดนนั้น เคยมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน เพราะหากนับย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน แม้ว่าทั้งสองประเทศจะมีความขัดแย้งระหองระแหงกันในส่วนของนโยบาย หรือรัฐต่อรัฐ คนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนรวมถึงกำลังทหารก็ยังใช้ชีวิตปกติ ไม่ได้ตื่นเต้นหรือเดือดเนื้อร้อนใจเหมือนกระแสสังคม ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เชื่อว่ามีต้นตอมาจากปัญหาส่วนกลางไม่ได้เริ่มที่แนวชายแดน
“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ มีผลต่อความสัมพันธ์ของคนตามแนวชายแดนแน่นอน ต่อไปคงไม่มีใครเชื่อใจใคร ต่างฝ่ายคงระแวงต่อกัน ผมมีสวนยางปกติก็จ้างคนจากฝั่งเขมร เวลาโทรศัพท์ติดต่อกันก็ยังใช้เสาสัญญาณต้นเดียวกันเลย ผมมองว่า คงอีกนานความสัมพันธ์จะกลับมาสู่คนชายแดนเหมือนเดิม หรืออาจจะแต่ตีหน้ายิ้มแย้มเข้าหากัน แต่ในมือก็กำมีดไว้แน่น” พงษ์ศักดิ์เปรียบเปรย
นานาทัศนะ...หลังควันปืนและความสูญเสียจากเหตุการณ์ปะทะกันของกำลังทหารทั้งสองประเทศ ได้ก่อให้เกิดรอยร้าวขึ้นในใจของผู้คนตามแนวตะเข็บชายแดน และเมื่อต่างฝ่ายต่างได้รับความสูญเสีย อารมณ์ความโกรธแค้นที่บาดลึก อาจกลายเป็นแผลเป็นในใจ สั่นคลอนสัมพันธภาพของคนที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา จนยากจะกลับมาเหมือนเดิม!?
สัมพันธภาพ...ชายแดนไทย-เขมร
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!