ยูเนสโกตั้งทูตพิเศษดูแลพระวิหาร เล็งบินไทย-กัมพูชาหยั่งท่าทีลดขัดแย้ง

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ว่า ยูเนสโกแถลงว่า ยูเนสโกแต่งตั้งนายโคอิจิโร มัตสึอุระ อดีตผู้อำนวยการยูเนสโก เป็นทูตพิเศษดูแลเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหาร โดยนางไอรีนา โบโควา ผู้อำนวยการยูเนสโก ได้แจ้งให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาได้รับทราบถึงหน้าที่ของนายมัตสึอุระแล้ว


แถลงการณ์ของยูเนสโกระบุว่า มัตสึอุระจะเดินทางเยือนประเทศไทยและกัมพูชา
 
เพื่อหารือถึงวิธีปกป้องมรดกโลกและหยั่งท่าทีของทั้งสองฝ่ายเพื่อลดระดับความตึงเครียดและหาทางเจรจาเกี่ยวกับเรื่องปราสาทพระวิหาร นางโบโควายังได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับเรื่องการปกป้องปราสาทพระวิหาร ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกเมื่อปี 2551 จนกลายเป็นที่มาของความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา


นายวา คิมฮอง ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ฝ่ายกัมพูชา เปิดเผยว่า
 
จะไม่มีการประชุมเจบีซีระหว่างไทยกับกัมพูชาในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ตามที่ทางการไทยกล่าวอ้าง และว่า กลไกระดับทวิภาคีไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ว่า จะมีการประชุมเจบีซีในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์นี้


ขณะที่นายชวนนท์ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้รับหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการเชื่อว่าเป็นเพียงกระแสข่าว

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไทยต้องการให้การแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจา คาดว่าหลังการเดินทางพบคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่มหานครนิวยอร์ก ระหว่างนายกษิต ภิรมย์ นายฮอ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ น่าจะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว


นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ กล่าวถึงปัญหาข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา กรณีปราสาทพระวิหาร ว่า
 
ทางออก คือ ต้องตกลงกันให้ได้ว่า ทั้งสองประเทศจะได้รับผลประโยชน์เป็นที่พอใจร่วมกัน เป็นการพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนสองประเทศ โดยมองข้ามเรื่องเขตแดน ไม่ต้องพูดว่าพื้นที่เป็นของใคร ซึ่งมีหลายประเทศที่บริหารจัดการร่วมกันได้เป็นตัวอย่าง อาทิ น้ำตกไนแองการา ที่อยู่บนพรมแดนระหว่างแคนาดากับสหรัฐอเมริกา


"วันนี้เรื่องบานปลาย มีการใช้กำลัง เราต้องถามตัวเองว่า เราต้องการอะไร กัมพูชาต้องการอะไร เมื่อเรารู้แล้วว่า กัมพูชาได้สิทธิในตัวปราสาทพระวิหาร จึงอยากได้พื้นที่โดยรอบด้วย ซึ่งชัดเจนว่า เราให้ไม่ได้ เมื่อเราให้ไม่ได้ เราต้องทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ปะทะกันจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ถ้าต่างคนต่างยืน ยังชนกันแบบนี้ การทำให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันจึงเป็นทางออกที่ดีสุด ให้ประชาชนตามแนวชายแดนได้อยู่อย่างสงบ ไม่ต้องกลัวว่าเสียงปืนจะดังขึ้นเมื่อใด การทำให้สองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ต้องใช้ศิลปะทางการทูต พบปะพูดคุยกัน ชี้ให้เห็นเป้าหมายที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด" นายดอนกล่าว


นายดอนกล่าวว่า แนวทางการเจรจาต่อยูเนสโกขอให้ชะลอแผนบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร จนกว่าทั้งไทย-กัมพูชาเจรจากัน คงไม่เกิดผล
 
เพราะดูจากท่าทีของฝ่ายกัมพูชา คงไม่เจรจากับไทยแล้ว ที่สำคัญกัมพูชาเดินเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกเกินครึ่งแล้ว ดังนั้น ทางออกที่บอกว่า ให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกันต้องทำให้ยูเนสโกและกัมพูชาเข้าใจ และเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินการจึงจะถือว่าแก้ปัญหาได้


"นอกจากนี้ การเมืองในประเทศไทยยังมีส่วนสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะผู้นำรัฐบาลกัมพูชาผ่านมาแล้ว 20-30 ปี ไม่เคยเปลี่ยนแปลง มีทีมทำงานเรื่องนี้ต่อเนื่อง เพราะกัมพูชามีธงชัดเจนว่า จะทำเรื่องนี้อย่างไร แต่ประเทศไทยเปลี่ยนผู้นำบ่อย คณะทำงานจึงไม่มีความต่อเนื่อง" นายดอนกล่าว


เมื่อถามว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปชี้แจงต่อยูเอ็นเอสซี จะมีผลต่อสถานการณ์ไทย-กัมพูชา อย่างไร

นายดอนกล่าวว่า ถ้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ สถานการณ์แนวชายแดนสงบ คาดว่ายูเอ็นเอสซีคงให้สองฝ่ายกลับไปพูดคุยกัน แต่ถ้าวันดังกล่าวเกิดการเคลื่อนไหวทางทหาร เป็นเหตุให้เกิดความตึงเครียด ยูเอ็นเอสซีคงจะพิจารณาอะไรบางอย่าง แต่ส่วนใหญ่มักจะให้ประเทศคู่กรณีกลับไปคุยกันเพื่อหาทางออก อย่างไรก็ตาม ทราบจากสื่อว่า วันที่ 22 กุมภาพันธ์ อาเซียนจะเรียกไทย-กัมพูชาไปพูดคุยกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาเซียนจะเข้ามาเป็นคนกลาง ไม่ใช่เรื่องที่จะพูดคุยสองฝ่ายแล้ว


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์