คมชัดลึก :ฝ่ายค้านป่วนไม่ยอมลงมติวาระสาม ชี้ร่างแก้ไขรธน. 2 ฉบับผิดรธน. ขู่หากฝืนจะไม่ร่วมสังฆกรรม “ลุงชัย”ไม่สนบอกรับผิดชอบเองเดินหน้าโหวตต่อ ขณะที่ “ประธานวิปฝ่ายค้าน”นำทีมวอล์คเอาท์ ก่อนที่ประชุมรัฐสภามีมติผ่านร่างแก้ไขรธน.มาตรา 190 วาระสาม 397 ต่อ 19 เสียง ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากมีการถกในประเด็นดังกล่าวนานกว่ากว่า 2 ชั่วโมง สุดท้ายนายชัย กล่าวต่อว่านายประสพสุข บุญเดช รองประธานรัฐสภาซึ่งเป็นประธานในที่ประชุมในช่วงที่มีการเสนอญัตติได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าเรื่องนี้ไม่ขัดข้อบังคับการประชุม ดังนั้นตนเชื่อผู้พิพากษามากกว่านายทหาร และตอนนี้ใช้เวลานานเกินแล้ว ขอเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ส่วนใครขัดข้องใจก็ทำตามขั้นตอนกันไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุมรัฐสภา มีมติเสียงเกินหนึ่ง 397 ต่อ 19 และ งดออกเสียง 10 เสียง เห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในวาระที่ 3 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งขั้นต่อจากนี้จะมีการนำร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการแก้ไขและความเห็นขอบจากรัฐสภาแล้วนายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 นับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างแก้ไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 150 ต่อไป
ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..)พุทธศักราช..(มาตรา 190 ) และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..)พุทธศักราช..(มาตรา 93-98 ) ในวาระที่สาม
ก่อนเข้าสู่การลงมติร่างรัฐธรรมนูญฯแก้ไขเพิ่มเติม นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในฐานะประธานในทีประชุมหยิบยกญัตติของนายประยุทธ ศิริพานิชย์ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่เสนอว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผิดข้อบังคับข้อที่ 86 ของรัฐสภาและเกรงว่าจะผิดรัฐธรรมนูญ ขึ้นมาหารือ
โดยนายประยุทธ กล่าวว่า เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..)พุทธศักราช..(มาตรา 190 )และร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..)พุทธศักราช..(มาตรา 93-98 ) ไม่มีการเขียนเลขมาตราไว้ ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญนำไปแก้ไขก่อนที่จะทูลเกล้าฯ
แต่อย่างไรก็ตามท้ายที่สุดที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นด้วยกับญัตติของนายประยุทธ์ ด้วยเสียง 302 ต่อ 230 งดออกเสียง 51 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง แต่มีการท้วงติงจากส.ส.พรรคเพื่อไทยว่าเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งจึงควรให้มีการลงมติใหม่ อย่างไรก็ตามประธานในที่ประชุมได้มีการพักการประชุม 5 นาทีเพื่อหารือเรื่องดังกล่าว แต่หลังจากเปิดประชุมมานายชัยได้แจ้งว่าญัตติของนายประยุทธ์ตกไปและขอให้ดำเนินการลงมติในวาระสาม และตนจะขอรับผิดชอบทุกอย่างหากผิด ขณะที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย โต้เถียงในประเด็นดังกล่าวจนทำให้มีการถกเถียงกับประธานในที่ประชุม
โดยนายสุรพงษ์ กล่าวว่า ประธานรัฐสภาจะรับทุกอย่างเองไม่ได้ เพราะพวกตนต้องรับผิดชอบด้วย ไม่อย่างนั้นพวกตนคงต้องทบทวนว่าจะดำเนินการต่อไปหรือไม่และขอให้ประธานรัฐสภาไปปรึกษานายกฯในฐานะผู้นำว่าทำได้หรือไม่ หากประธานรัฐสภายังดันทุรังต่อไปตนก็ไม่ร่วมสังฆกรรม และขอให้นายกฯถอนร่างฉบับนี้ออกไปแก้กันให้ถูกต้องก่อนไม่ใช่ว่าจะยุบสภาภายใน 2-3 วันนี้ ทำให้ถูกต้องไม่ต้องรีบร้อน พวกตนยังไม่ได้ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเลย พักกันอีก 5 นาทีก็ได้ แต่ทำกันแบบนี้ไม่ได้ ทำอะไรทำให้ถูกอย่าให้ลูกหลานประนามเราเลย
แต่อย่างไรก็ตามนายชัยยังยืนยันว่าตนจะรับผิดชอบเอง ทำให้นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทยได้ลุกขึ้นทักท้วงอย่างหนัก โดยระบุว่าขอให้ประธานรัฐสภาฟังเสียงของคนอื่นพูดบ้าง ขนาดจิ้งจกยังทักแต่นี้คนทั้งคน
ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กล่าวว่า จะผิดหรือไม่ผิดข้อบังคับก็มีช่องทางที่จะทำได้ อย่างการยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดหรือไม่ขัด แต่ว่าการจะตีความข้อบังคับเขียนไว้ชัดเจนว่าจะตีความหรือไม่ตีความให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ซึ่งที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้ลงมติไปแล้วว่าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับญัตติดังกล่าว
ขณะที่นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หากประธานรัฐสภาจะวินิจฉัยอย่างไรก็วินิจฉัยไปเลย พวกตนจะได้รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ตอนนี้ก็เสียเวลามานานแล้ว และหากพวกตนยังติดใจจะได้เสนอเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไป
แต่อย่างไรก็ตามระหว่างที่นายชัยเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเพื่อลงมติวาระสามของร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่..)พุทธศักราช..(มาตรา 190 ) ปรากฎว่านายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ที่ประธานยังดึงดันที่จะทำผิดให้เป็นชอบ ดังนั้นในฐานะที่เป็นสมาชิกรัฐสภาและสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน จะไม่ขอร่วมพิจารณาในสิ่งที่คิดว่าผิดรัฐธรรมนูญ และตนขอออกจากห้องประชุม
ทั้งนี้ร่างแก้ไขมาตรานี้มีสาระสำคัญ คือ หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพ.ร.บ.เพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา
ในการนี้รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับ เรื่องดังกล่าว ให้มีการออกกฎหมายลูกภายในระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา
มติ397ต่อ19ผ่านร่างแก้ไขมาตรา190
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!