คมชัดลึก :การ "สร้าง" ข้อพิพาทระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ด้วยการโจมตีด้วยอาวุธหนัก ดูเหมือนจะเป็นไปตามแนวทางของสมเด็จฮุน เซน กระบวนการเร่งเร้าเพื่อไปสู่จุดหมายจึงถูกปรับเปลี่ยน ให้เกิดข้อพิพาทและหวังว่านานาชาติ โดยเฉพาะองค์การสหประชาชาติจะเข้ามาเพื่อเป็นคนกลางจัดการปัญหาที่เกิดขึ้น
อาจเป็นเพราะ ฮุน เซน มีความมั่นใจว่า ศาลโลกได้พิพากษามาแล้วว่า ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา มั่นใจว่า แผนที่ที่ตนถืออยู่ในมือ 1:200,000 นั้นโยงใยกับคำพิพากษาของศาลโลก และมั่นใจว่า ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศไทย จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่น่าจะเอื้อให้แก่กัมพูชา ที่มีกำหนดจะถกเรื่องมรดกโลกกับไทยในเดือนมิถุนายนนี้
การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นบทพิสูจน์ว่า "แผนบี" ของกัมพูชาจะสำเร็จหรือไม่
ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะทางฝ่ายไทยนั้นดูออกมาตั้งแต่แรกว่า กัมพูชาต้องมาไม้นี้
แผนการปกป้องอธิปไตย การปะทะและผลักดันกองกำลังทหารกัมพูชาออกไปนั้นชัดเจนว่ามีการวางแผนและประสานงานกันระหว่าง รัฐบาล-กระทรวงกลาโหม-กระทรวงการต่างประเทศ เป็นอย่างดี
นั่นก็คือการปะทะ เพื่อผลักดันกองกำลังของกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่พิพาท ด้วยกำลังทหารและอาวุธที่ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าที่กัมพูชาระดมยิงเข้าใส่ไทย
ขณะเดียวกัน ก็พยายามให้การปะทะกันนั้นจำกัดกรอบอยู่เพียงแค่ "ข้อขัดแย้ง" ไม่ขยายผลไปถึงขั้นเป็น "สงครามเต็มรูปแบบ" นั่นก็คือการหลีกเลี่ยงการตามติดไล่ทำลายล้าง จนล้ำแดนเข้าไปตั้งกองบัญชาการในพื้นที่ของกัมพูชา
ตรงนี้อาจทำให้การชี้แจงของไทยต่อคณะมนตรีความมั่นคงฯ "มีน้ำหนัก" และมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อภาพถ่ายที่ได้จากกองทัพมีหลายภาพชัดเจนว่า กองกำลังทหาร หรือกองกำลังติดอาวุธของกัมพูชาประจำการอยู่บนปราสาทพระวิหาร และระดมยิงทหารไทย
สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การโจมตีของกองทัพกัมพูชา ยังละเมิดกฎบัตรของสหประชาชาติ ที่ห้ามการสู้รบทำลายเป้าหมายที่เป็นพลเรือน ซึ่งชัดเจนมากว่า บ้านเรือนราษฎรไทยได้รับความเสียหายอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงฯ ครั้งนี้ ก็อาจจะเข้าทางกัมพูชา เพราะขุดบ่อล่อปลาให้ไทยหลงเข้าไปเดินบนเวทีนี้มานับสิบปีแล้ว
ที่สำคัญทางการไทยมักจะเชื่อมั่นว่า เมื่อลงได้กอดเอ็มโอยู 2543 เอาไว้แล้วจะทำให้มีน้ำหนักในการเจรจา ซึ่งในความเป็นจริงนั้นไม่ใช่ กัมพูชาได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่เคยเคารพเอ็มโอยู 2543 เลยแม้แต่น้อย
ดูได้จากการจับกุม 7 คนไทย และเร่งส่งตัวขึ้นศาลอย่างรวดเร็ว และการปะทะกับกองกำลังทหารไทยด้วยอาวุธหนัก จนแทบจะเข้าสู่ภาวะสงคราม
ชัดเจนว่า กัมพูชารับรู้แต่ไม่เคยให้น้ำหนักเอ็มโอยู 2543
กระทั่งหลังการปะทะกัน ก็ยังอุตส่าห์หาทางเชื้อเชิญตัวแทนขาใหญ่ทั้งห้า ในคณะมนตรีความมั่นคงฯ ลงพื้นที่ เพื่อดูความเสียหายที่เกิดขึ้นกับตัวปราสาทพระวิหาร ให้เห็นกับตาว่าทหารไทยนั้นร้ายกาจแค่ไหน
ตรงนี้ก็นับเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เพราะถ้อยแถลงของ กษิต ภิรมย์ เมื่อล่าสุดนั้น มีการตั้งข้อสังเกตบทบาทของ 3 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ว่าเกี่ยวข้องกับอาวุธที่กัมพูชาใช้ถล่มไทยหรือไม่
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการมอบหมายให้ กษิต ภิรมย์ ไปชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงฯ ก็จำเป็นต้องฝากความหวังเอาไว้
เช่นเดียวกับการมอบหมายให้ อัษฎา ชัยนาม ประธานะคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกว่า ไทยไม่เคยขัดขวางการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพียงแต่ว่าการขึ้นทะเบียนได้ทำให้แก้วที่มันร้าวอยู่แล้วแตกยับลงคามือของคณะกรรมการมรดกโลก
เมื่อถามว่า หากการเจรจาของไทยเป็นผล พี่ใหญ่ทั้งหลายฟังแล้วพออกพอใจ ก็ต้องย้อนกลับไปดูท่าทีของกัมพูชาว่าจะก่อเรื่องอีกหรือไม่
ทางฝ่ายไทยนั้นประเมินกันแล้วว่า หากเกิดเรื่องขึ้นอีก "ภาวะสงครามเต็มรูปแบบ" อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะต่างฝ่ายต่างขนกำลังรบมาเผชิญหน้ากันชนิดเต็มอัตราศึก
แต่หากพี่ใหญ่ทั้งหลายไม่ฟังเหตุฟังผล โอกาสที่จะเกิดสงครามก็ยังมีให้รับรู้ได้อีกเช่นกัน
เพราะชัดเจนว่า ไทยก็ไม่ยอมที่จะเสียดินแดน ขณะที่กัมพูชาก็ต้องเร่งมือ เพื่อเข้ามาบริหารมรดกโลกที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนให้แล้ว
หลักฐานที่มีอยู่เต็มกระเป๋าเอาเข้าจริงอาจไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากว่า ต่างฝ่ายต่างไร้ซึ่งเหตุและผล
เช็กหมัดเด็ดกษิตมัดคอเขมร
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!