จับตาเขมรหมวกแดงก่อวินาศกรรมชายแดน


คมชัดลึก : แม้เสียงระเบิดและควันปืนจากการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชาจะเงียบสงบลงแล้ว แต่เสียงเล่าลือถึงเรื่อง "หน่วยรบพิเศษเขมรหมวกแดง" ซึ่งเชี่ยวชาญการรบแบบกองโจรจะแฝงตัวเข้าก่อวินาศกรรม และการเสริมกำลังทหารเข้ามาประชิดชายแดนไทย แถวๆ ด่านถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ยังคงดังหนาหูอยู่ทุกวัน

 ร.ต.อ.ธวัชชัย บอกถึงลักษณะของหน่วยรบพิเศษของเขมรตามคำบอกเล่าของกองกำลังสุรนารีว่า หน่วยรบพิเศษของกองทัพเขมรจะสวมหมวกเบเรต์สีแดงหมือนหน่วยรบพิเศษป่าหวายของบ้านเรา แต่จะมีความเชี่ยวชาญการรบแบบกองโจร การซุ่มโจมตี แถมกลุ่มนี้ยังมีความเชี่ยวชาญการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์หลายชนิด และเอาตัวรอดในป่าได้เป็นอย่างดี


“เท่าที่รู้หน่วยรบพิเศษพวกนี้จะไม่มาเป็นกองทัพ แต่จะแยกย้ายกระจัดกระจายแทรกซึมกันเข้ามาหาข่าวตามแนวชายแดน ซึ่งจะแยกไม่ออก เพราะคนแนวชายแดนเขาจะสื่อสารภาษาเดียวกัน คือ คุยได้ทั้ง 2 ภาษาอยู่แล้ว หากคนกลุ่มนี้ได้รับคำสั่งให้ลงมือปฏิบัติการ เชื่อว่าเขาจะลงมือได้อย่างคล่องตัวและหลบหนีเข้าป่าผ่านชายแดนออกไปยังประเทศเขา ตอนนี้จึงต้องเฝ้าระวังสถานที่ราชการ ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายของการเข้ามาก่อความวุ่นวายด้วยการวางเพลิงก็ได้” ร.ต.อ.ธวัชชัย กล่าว


ในเรื่องนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคงจึงปรึกษาและวางแผนกันเพื่อจะให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการป้องกันภัยดังกล่าวเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และประชาชน จึงได้ตั้งชุดรักษาความปลอดภัยชาวบ้าน (ชรบ.) ขึ้นมาตรวจตราดูแลความปลอดภัยทรัพย์สินของชาวบ้าน และสถานที่ราชการด้วย โดยให้ "ชรบ." เป็นหน่วยสนับสนุนการทำงานของทหารและตำรวจที่ออกลากตระเวนไปยังหมู่บ้านต่างๆ และตลอดถนนเส้นยุทธศาสตร์ "ถนนลาดยางสายสุดท้าย" หรือ "ภูมิซรอล-สำโรงเกียรติ" ด้วย


“ดอน กล่ำเงิน” ผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาว หมู่ 4 ต.ละลาย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ บอกว่า หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งตามแนวชายแดนจนต้องอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ทางฝ่ายปกครอง ของกระทรวงมหาดไทยร่วมกับทหาร มาแจ้งอบต.ให้ผู้ใหญ่บ้านแต่ละหมู่รับสมัครอาสาสมัครหมู่บ้านละ 15 คน เพื่อมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยในหมู่บ้านในช่วงเวลาคับขัน โดยให้ผู้ใหญ่บ้านในแต่ละหมู่บ้านเป็นหัวหน้าชุด


“การที่ผู้ใหญ่บ้านมารับหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดและรับสมัคร ชรบ. เนื่องจากผู้ใหญ่บ้านจะรู้นิสัยใจคอ รวมถึงประวัติว่าเป็นใครมาจากไหน ไว้ใจได้หรือไม่ หลังจากนั้นก็นำรายชื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อเบิกชุดและปืนเพื่อมาประจำกายและดูแลรักษาหมู่บ้านของเรา” ผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาว บอกถึงที่มาของ ชรบ.


ส่วนขั้นตอนการฝึกอบรมและลงปฏิบัติการจริง ผู้ใหญ่บ้านทุ่งยาว อธิบายว่า เมื่อได้อาสาสมัคร ชรบ.มาครบตามจำนวนแล้ว จะมีทหารมาสอนการใช้ปืนเบื้องต้น และวิธีการตรวจค้นอาวุธและสิ่งผิดกฎหมาย โดยจะต้องใช้วาจาที่สุภาพ โดยเฉพาะกับคนที่เมาสุรา ส่วนวิธีเข้าตรวจค้นต้องมีเพื่อนอีกคนคอยระวังภัยให้ ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะแยกย้ายเข้าไปในหมู่บ้านและอบรม สำหรับการทำงานของชุด ชรบ.นั้น ส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์จะเป็นการตั้งด่านตรวจคนแปลกหน้าที่เดินทางเข้าออกหมู่บ้านในยามวิกาล อีกส่วนหนึ่งจะจัดเป็นสายตรวจรถจักรยานยนต์ โดยแบ่งเป็น 3 ผลัด ตั้งแต่ 6 โมงเย็นจนถึงเช้า ผลัดละ 4 ชั่วโมง

 แม้ว่าหน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งทหาร ตำรวจ และประชาชน จะเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ความไม่ปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ไว้พร้อมเพียงใด แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยังไม่คลายกังวลใจกับข่าวลือเหล่านั้น!!


“เมื่อเช้าฉันได้ยินข่าวมาว่า ให้ชาวบ้านทุกคนเตรียมเก็บกระเป๋าเพื่อเป็นการเตรียมพร้อม หากมีการโจมตีจากทหารฝ่ายกัมพูชาจะรุนแรงกว่าเดิมเพราะ ฮุน เซน โกรธที่ทหารไปทำให้ลูกชายเขาให้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งบางกระแสก็บอกมาว่าถึงกับเสียชีวิต” นางหนูคล้าย คุนรา อยู่บ้านเลขที่ 123 บ้านเสาธงชัย หมู่ 1 ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ด้วยความเป็นห่วงบ้านและสามี และตลอดทั้งวันข่าวลือต่างๆ จะผ่านเข้ามาให้ได้ยินและสร้างความหวาดหวั่นใจอยู่ไม่น้อย!!
 



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์