เขมรตั้งทหารบนวิหารผิดสัญญากรุงเฮก


"กษิต"เผยบรรยากาศหารือ"ปธ.อาเซียน"ฉลุย ชี้ทวิภาคีเป็นทางออกเดียวในการแก้ปัญหาเตรียมถก เจบีซี ปลายเดือนนี้ ปัดดึง UNSC ร่วมแก้ปัญหา “นายกฯ” เรียกประชุม “สมช.นัดพิเศษ” หารือใช้กลไก “สมช.” แก้ปมปะทะ “ไทย-เขมร” ยืนยัน ไม่ได้เรียกประชุมล่าช้า “ปท.” ไม่เสียประโยชน์ เพราะ แต่ละ “กระทรวง” ต่างมีหน้าที่และทำมาตลอด สุวิทย์ชี้กัมพูชาทำผิดสัญญาอนุสัญญากรุงเฮก ตั้งกองกำลังทหารบนปราสาทพระวิหาร

(8ก.พ.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังการหารือระหว่างนายมาร์ตี้ นาตาลากาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เป็นเวลากว่า 40 นาที ว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปได้ด้วยดี ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาให้การสนับสนุนการเจรจาทวิภาคีต่อไป เนื่องจากเป็นทางออกที่ดีในขณะนี้ ซึ่งการที่ประธานอาเซียนมารับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นระหว่างไทย - กัมพูชา โดยอาเซียนพร้อมให้การสนับสนุนการเจรจาแก้ไขปัญหาเพื่อหาทางออกของสองประเทศ เพื่อให้เกิดความเจริญมั่นคงไป

นายอาร์เอ็ม มาร์ตี้ เอ็ม นาตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า อินโดนีเซีย เป็นมิตรประเทศกับทั้งไทยและกัมพูชา จึงติดตามสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมาอย่างใกล้ชิด เมื่อวาน (7 ก.พ.)ได้ไปเยือนกัมพูชา และได้พบกับ นายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศกัมพูชา และวันนี้ก็ได้พบกับ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ โดยจากการที่ได้มารับฟังข้อมูลข้อเท็จจริงและสัมผัสกับทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นคงต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการประมวลข้อมูลต่างๆ แต่ในเบื้องต้นสามารถสรุปความรู้สึกของตนได้ 3 ประการ คือ 1.รู้สึกว่าทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา ได้ประกาศความมุ่งมั่นในหลายโอกาสที่จะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี และผ่านการเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและสะท้อนถึงความเป็นมิตรประเทศอาเซียน 2.การให้ความสำคัญกับเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ความตกลงหยุดยิงมีผลอย่างต่อเนื่องต่อไป ซึ่งในการนี้ ทางอินโดนีเซียก็ตระหนักว่ามีการหารือกับฝ่ายไทยและกัมพูชา ซึ่งอินโดนีเซียก็พร้อมจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสื่อสารดังกล่าวด้วย เพราะรับทราบพัฒนาการต่างๆ

นายมาร์ตี้ กล่าวต่อไปว่า 3.การแก้ไขปัญหานั้นสำคัญที่สุด คือต้องอาศัยการเจรจาระดับทวิภาคี ในส่วนของอาเซียน และระหว่างประเทศ ก็น่าจะสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว เพราะในที่สุดแล้วการจะหาข้อยุติที่ยั่งยืน จะต้องเจรจาระดับทวิภาคี โดยอาเซียนจะเข้าไปสนับสนุนและสร้างบรรยากาศในการเจรจาในกรอบทวิภาคี

 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้ชี้แจงข้อมูลให้ รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้รับทราบ ซึ่งข้อมูลนี้ได้มีการเผยแพร่ให้รับทราบ โดยได้ตอกย้ำท่าทีของรัฐบาลไทยที่ได้แจ้งต่อมิตรประเทศและสหประชาชาติ ส่วนเรื่องการเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย - กัมพูชา ต้องอาศัยเวลาไม่ได้มีกรอบเวลาตั้งไว้ ซึ่งคิดว่าการเจรจาทวิภาคีก็จะเริ่มขึ้นจากการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพุชา (เจบีซี) ซึ่งในวันเสาร์ที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา รมว.ต่างประเทศ ได้หารือทางโทรศัพท์กับ นายฮอร์ นัม ฮง แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าควรจะจัดการประชุมในโอกาสแรก โดยมีไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดคร่าวๆ ว่าจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.พ.

ผู้สื่อข่าวถามว่า บรรยากาศการหารือระหว่างนายกษิต กับนายมาร์ตี้ เป็นอย่างไร นายธานี กล่าวว่า การหารือใช้เวลากว่า 40 นาที โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือการหารือกันในแบบสองต่อสอง (4 eyes) และหารือกันต่อในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน เมื่อถามว่า ได้มีเอกสารแนบการชี้แจงกับนายมาร์ตี้ด้วยหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้เชิญคณะทูต จากประเทศอาเซียนและประเทศสมาชิกคณะมนตรีถาวรความมั่นคง รวม 16 ประเทศแล้วเมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งอินโดนีเซียเป็น 1 ในประเทศที่กระทรวงได้เชิญมาชี้แจง ซึ่งเชื่อว่าเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียได้รายงานต่อรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายกัมพูชาเตรียมจะส่งตัวแทนไปชี้แจงต่อยูเอ็นเอสซี ทางฝ่ายไทยได้มีแผนเตรียมชี้แจงเช่นนี้หรือไม่ นายธานี กล่าวว่า คณะทูตถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กได้เป็นผู้ยื่นหนังสือชี้แจงสถานการณ์การปะทะกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ต่อยูเอ็นเอสซี ทั้ง 2 ฉบับ พร้อมทั้งได้ชี้แจงพูดคุยข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ยังไม่เห็นความจำเป็นในการยกระดับไปสู่การหารือระดับภูมิภาคและให้ยูเอ็นเอชซีเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหานี้

ครม.แต่งตั้ง"ชวนนท์"ที่ปรึกษาเจบีซี
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอการปรับองค์ประกอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) โดยแต่งตั้งนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นต้นไป

มาร์คถกสมช.นัดพิเศษแก้ปมไทย-เขมร
เมื่อเวลา 13.50 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชารติ (สมช.) กล่าวถึงการเรียกประชุม สมช.นัดพิเศษ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม  โดยมีวาระเกี่ยวกับสถานการณ์การปะทะกันที่ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินการของส่วนราชกการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และอีกหลายหน่วยราชการที่มีส่วนในการบรรเทาปัญหา เพื่อให้แต่ละหน่วยดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ส่วนที่ผ่านมาก็มีการสั่งการแล้วบ้างเหมือนกันแต่ครั้งนี้ นายกฯ ต้องการใช้กลไกของ สมช.   ที่ประกอบด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผบ.เหล่าทัพ และผบ.สูงสุด ที่จะช่วยในการพิจารณาตกลงใจในเรื่องต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางประสานการทำงานร่วมกัน

“ การเรียกประชุมนัดพิเศษในครั้งนี้ ไม่ถือว่าช้าเกินไป เพราะเรื่องต่างๆไม่ใช่ว่าที่ทางผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการอะไร กระทรวงที่มีหน้าที่ก็ดำเนินการมาตลอด ยืนยันว่าไม่ช้า ประเทศไม่เสียประโยชน์ และยืนยันได้ว่าส่วนราชการต่างๆจะดำเนินการรักษาผลประโยชน์ของชาติอย่างดีที่สุด ในการประชุมครม. ทางรมว.กลาโหม ก็ได้รายงานเกี่ยวการเกิดเหตุการณ์การปะทะกันที่เกิดขึ้นให้ครม.ได้รับทราบแล้ว เพื่อที่หน่วยงานจะได้ไปปฏิบัติได้ถูกต้อง และวันนี้จะไม่มีการพูดเรื่องการปฏิวัติ เพราะจากที่ได้พูดคุยกับรมว.กลาโหม ท่านบอกว่าเป็นเรื่องเหลวไหล” เลขาฯสมช. กล่าว

สุวิทย์ชี้กัมพูชาทำผิดสัญญาอนุสัญญากรุงเฮก
นายสุวิทย์   คุณกิตติ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   (ทส.)   เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ เขาได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์   เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี   เพื่อหารือกรณีปราสาทเขา พระวิหาร   ซึ่งได้ประชุมร่วมกันหลายฝ่าย โดยที่ประชุมได้สั่งการให้กระทรวงต่างประเทศ   เร่งจัดทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการมรดกโลก   ขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก) เพื่อชี้แจงกรณีกัมพูชา ทำผิดอนุสัญญากรุงเฮก ที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า พื้นที่ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ห้ามนำไปใช้เป็นพื้นที่ทางการทหาร หรือใช้ เป็นโล่ในการปกป้องกำลังทางทหาร ซึ่งถือว่ากัมพูชาทำผิดข้อกำหนดดังกล่าวชัดเจน

"เนื่องจากพื้นที่ตัวปราสาทพระวิหารได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว   จึงห้ามใช้โบราณสถานมาเป็นพื้นที่ในการตั้งกำลังทหาร   แต่กัมพูชา ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นตั้งกองกำลังทหาร ซึ่งผิดอนุสัญญาแน่นอน " นายสุวิทย์   กล่าวและว่า  

 ส่วนการจัดประชุม คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกของไทย ของไทยนั้นได้เตรียมประชุมเร็วๆนี้   เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโก ที่บาเรนห์ ในเดือนมิถุนายน นี้

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการมรดกโลกของไทย   กล่าวว่า   ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพ ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการมรดกโลกของไทย เตรียมจัดทำ   วาระ และท่าทีเกี่ยวกับกรณีปัญหามรดกโลกพระวิหาร เพื่อเสนอให้นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการมรดกโลกของไทย เร่งพิจารณากำหนดจุดยืนของประเทศไทย และเสนอไปยังสำ นักงานเลขาคณะกรรมการมรดกโลกของยูเนสโกโดยเร็ว   เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดความขัดแย้ง และสงครามบริเวณชาย แดนไทย – กัมพูชา จากกรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารแล้ว ที่สำคัญยังพบมีข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบกับไทย   ซึ่งเรื่องนี้ถือว่ามีความละเอียดอ่อนมาก   ดังนั้นจึงต้องเร่งหาข้อโต้แย้งไปยังมรดกโลกของยูเนสโก เพื่อตอบโต้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน

ส.ว.ชี้ฝ่ายไทยยังตามไม่ทันผู้นำกัมพูชา
พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ ส.ว.สรรหา อดีตประธานคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา และอดีตผบ.สส. กล่าวถึงปัญหาพิพาทชายแดนไทย-กัมพูชาจนส่งผลให้มีการใช้กำลังปะทะกัน ว่า ที่ผ่านมาการวิเคราะห์ในส่วนฝ่ายไทยถึงความต้องการของผู้นำกัมพูชา ก็เห็นชัดเจนว่า กัมพูชาต้องการอะไร แต่ฝ่ายไทยก็ยังตามไม่ทัน บางเรื่องไม่น่าจะเป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่อง ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย - กัมพูชาว่าด้วยการจัดทำเขตแดนทางบก ปี 2543 (เอ็มโอยู 43 ) ข้อ 5 ก็ระบุว่า ห้าม 2 ประเทศดัดแปลงพื้นที่ที่ยังไม่มีการตกลงหลักเขตแดนกัน แต่กัมพูชาก็ละเมิดมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนน ที่หมู่บ้านโกมุย ขึ้นมาทางขึ้นปราสาทพระวิหาร รวมถึงสร้างกระเช้าลอยฟ้า ที่ภูมะเขือขึ้นปราสาทพระวิหาร   โดยทางการไทยได้แต่ทำการทักท้วงด้วยกระดาษแผ่นเดียวมาหลายครั้ง แต่ก็ไม่เคยสำเร็จ แต่ล่าสุดเหตุการณ์ที่ปะทะกันวันที่ 4 ก.พ. ทางการข่าวที่ตนได้รับรายงานมาซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยระบุว่า ทางไทยได้ปรับปรุงถนนบริเวณพื้นที่พิพาท 4.6   ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าละเมิดเอ็มโอยู 43 นิดหน่อย โดยฝ่ายกัมพูชาก็เข้ามาห้าม แต่ไทยไม่หยุด ก็เลยเกิดการปะทะกันขึ้น ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าแท้จริงแล้วใครเป็นคนยิงก่อน

“นอกจากนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากปัญหาภายในประเทศ ที่มีความคิดเห็นต่างกัน ประเทศไม่เป็นเอกภาพ ขณะที่ความต้องการของผู้นำกัมพูชาเราก็รู้อยู่ว่าเขาต้องการนำเรื่องขัดแย้งขึ้นสู่เวทีนานาชาติ แต่เราพยายามบอกว่า ต้องการจัดการปัญหาด้วยทวิภาคี เนื่องจากไทยไม่มั่นใจว่า นานาชาติจะเอียงไปเข้าข้างฝ่ายกัมพูชาหรือไม่ เราจึงไม่ยอมรับการช่วยเหลือ แต่มันจะลำบากตรงที่สายตาคนต่างชาติจะมองไทยว่า ทำไมไทยไม่ยอมให้นานาชาติเข้าช่วย แล้วจะถูกถามกลับว่า ถ้าแก้ปัญหาระดับทวิภาคีได้ ทำไมถึงไม่ได้ผลสักที ไทยต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ ไม่เช่นนั้นไทยจะถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ เด็กเกเร และจะตกที่นั่งลำบาก ”   พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับท่าทีฝ่ายไทยและการดำเนินการตอบโต้ อยู่ในขั้นที่ใช้ได้แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงต่อวุฒิสภาในการประชุมลับเมื่อวันที่ 7 ก.พ. ถือว่า ครอบคลุมทุกเรื่อง แต่ตนยังติดใจว่า น่าจะนำประเด็นที่กัมพูชาพยายามโจมตีทางฝั่งไทยด้วยการยิงอาวุธหนักเข้ามาในชุมชนชาวบ้าน ซึ่งทางการทหารไม่ควรใช้วิธีนี้ ถือเป็นการจงใจยิงเข้าใส่ชุมชนหรือไม่ ไทยควรเปิดประเด็นนี้ให้ต่างชาติรับทราบ ส่วนเหตุปะทะขณะนี้ตนมองว่าเริ่มทุเลาขึ้นตามลำดับ เพราะไม่มีใครต้องการให้เกิดความสูญเสีย



เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์