ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวปัจฉิมกถาและปิดการสัมมนาวิชาการอุษาคเนย์ ครั้งที่ 8 ประจำปี 2554 ในหัวข้อ “สยาม-ขะแมร์ คู่รัก คู่ชัง คู่กรรม คู่เวร”
โดยมีเนื้อหาตอนหนึ่งได้พูดถึงปาฐกถาของนางยู ออย เอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ที่ระบุว่า ในอดีตอาณาจักรกัมพูชาเสียดินแดนถึง 13 จังหวัดให้แก่ประเทศไทย นายกษิตระบุว่า ไม่อยากให้กล่าวแบบนี้ว่ามีการสูญเสีย เนื่องจากเป็นเรื่องที่จบไปแล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าในอดีต ขอมเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของอดีต ซึ่งไม่มีคำว่ารัฐหรือประเทศ ความคิดเรื่องชาติเพิ่งมามีบทบาทในช่วง 300-400 ปีมานี้ ในประเทศแถบยุโรปในยุคล่าอาณานิคมนำเข้ามา ยกตัวอย่างกรณีของฝรั่งเศสและเยอรมันซึ่งสู้รบกันมายาวนานและรุนแรงกว่าประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เมื่อราว 50 ปีที่แล้ว ผู้นำของทั้งสองชาติยอมยุติศึก และลืมอดีตอันขมขื่น และหันมาร่วมมือกันจนสามารถจัดตั้งสหภาพยุโรป เพื่อความร่วมมือในมิติต่างๆ อันเอื้อประโยชน์แก่ประชาชน
“ประเทศไทยก็เหลือแค่นี้ หายไปครึ่งหนึ่งเราก็ไม่ร้องแร่แห่กระเชิง ถ้าเราไปทำมันก็ไม่จบไม่สิ้น อาเซียนก็เกิดไม่ได้ ก็ต้องรบราฆ่าฟันกันไป เราก็จะเหี่ยวแห้ง ก็จนกันต่อไปอย่างนี้ จึงเป็นภาระของผู้นำสองประเทศที่ต้องหาจุดร่วมมากกว่าจุดต่าง หรือสร้างความเกลียดชังกันและกัน” นายกษิตกล่าว
สำหรับตอนนี้เราต้องมุ่งไปข้างหน้า ประวัติศาสตร์มีไว้ให้ยอมรับ แต่ให้รู้ว่ามันจบไปแล้ว ขอให้หันมาร่วมกันสร้างประชาคมอาเซียนว่าเรามีศักดิ์ศรีไม่ดูถูกดูแคลนกัน ไม่สอนให้เกลียดชัง รบราฆ่าฟัน แม้ว่าจะเกิดการปะทะกันขึ้น ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลทั้งสองที่ต้องมองภาพรวม แก้ไขปัญหา และรักษาสันติภาพร่วมกัน ทั้งนี้ตราบใดที่เรายังดูถูกดูแคลนกันอยู่ เอาประวัติศาสตร์เป็นที่ตั้ง ให้คำนึงถึงพันธกรณีในกรอบอาเซียนและยูเอ็นที่มีระหว่างกัน อย่ามองเพียงแต่พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่จะเป็นอุปสรรคระหว่างกัน
ในระหว่างที่ตนได้พบกับนายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ในระหว่างการเยือนกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยังหารือกับนายฮอร์ นัมฮงว่าทั้งสองประเทศมีสิ่งที่เหมือนกันมากกว่าต่างกัน ทั้งประเพณี วัฒนธรรม สังคมชาวพุทธ และมีชีวิตผูกพันธ์กับแม่น้ำ ซึ่งในคำศัพท์ของกัมพูชาและของไทยก็มีการพูดถึงเอกลักษณ์ของประเทศนั้นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความชื่นชมกันและกัน อย่างเช่น เพลงเขมรไทรโยค ขนมเบื้องญวน ควรนำแนวคิดนี้มาเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือและลดการดูถูกดูแคลนกัน
“ขณะที่ท่านฮุนเซนที่อยู่ที่โน่นก็ต้องทำหน้าที่เช่นนี้เหมือนกัน ว่าเราจะเอาจุดปราสาทพระวิหารมารบราฆ่าฟันกันไปหรือ ขณะที่ยังมีเรื่องดีๆ อีกมากมายที่ต้องทำ ฝากให้นักวิชาการของไทยหันมามองสิ่งที่เรามีเหมือนกันเพื่อเสริมสร้างความเข้าอกเข้าใจและความร่วมมือระหว่างกันให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายกษิตกล่าวและเผยต่อไปว่า เมื่อไม่กี่ชั่วโมงมานี้ ตนได้ตกลงกับฮอร์ นัมฮง ที่จะเดินทางไปหารืออย่างเปิดอกในประเทศที่สาม เพื่อจะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาว่าจะเอาอย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่เปิดให้ผู้ร่วมสัมมนาซักถาม มีหญิงวัยกลางคนยกมือเพื่อขอถามคำถามและบอกว่าในสถานการณ์ที่ไทยกัมพูชารบกันแบบนี้ นายกษิตจะมาพูดถึงเรื่องทุนนิยมได้อย่างไร นายกษิตตอบโต้ว่า คำถามบ้าๆ บอๆ อย่างนี้อย่ามาถาม เวทีนี้ไม่ใช่เวทีที่ใช้ด่าทอกัน เราต้องใช้เหตุและผลมาคุยกันอย่างสันติวิธี ขอเชิญออกไปข้างนอก ด้านนักศึกษาที่เป็นผู้จัดงานและสารวัตรทหารก็เข้าเกลี้ยกล่อมให้หญิงวัยกลางคนออกจากห้องประชุม แต่ถูกปฏิเสธและยังพยายามด่าทอนายกษิตต่อไป นายกษิตจึงพูดว่า ขอให้ออกไปข้างนอก และกล่าวปิดการประชุมทันทีโดยให้เหตุผลว่าบรรยากาศไม่ดี